บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) หุ้นไอพีโออนาคตไกล ขายเกลี้ยง 160 ล้านหุ้น ตอกย้ำการเป็นหุ้น ไบโอเทคตัวจริง! เตรียมเข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ "สมภพ กีระสุนทรพงษ์" กรรมการผู้อำนวยการ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำการจัดจำหน่าย เชื่อการกำหนดราคาไอพีโอ 1.63 บาท/หุ้น เป็นราคาเหมาะสม ประกอบกับเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โชว์จุดเด่นอุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งจีนและไทย สมัครใจ Lockup หุ้นส่วนที่ไม่ติดไซเรนพีเรียดตามเกณฑ์ SET ทั้งหมด เป็นเวลา 1 ปี ฟากซีอีโอ" ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล" ระบุ มูลค่าตลาดของการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย มีการคาดการณ์ปี 2573 จะเพิ่มขึ้นแตะ 5.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี 16.4% หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2564
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) เปิดเผยว่า การจองซื้อหุ้นไอพีโอของ BKGI จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 1.63 บาท ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2567 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจปัจจัยพื้นฐานของ BKGI ในฐานะที่เป็นหุ้น Biotechnology รายแรกของไทย ที่จะเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้จุดเด่นอยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต อีกทั้ง แบรนด์สินค้ายังเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างทั้งจากคู่ค้าและผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีความได้เปรียบจากการที่กลุ่ม BGI ผู้ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมระดับโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นเจ้าของนวัตกรรม พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี และงานวิจัย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ BKGI ในฐานะ Flagship รองรับแผนขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนไทย และกลุ่ม BGI ได้สมัครใจไม่ขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการติดระยะเวลาห้ามขาย (ไซเรนพีเรียด) ทั้งหมด เป็นเวลา 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
การที่หุ้น BKGI ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากการกำหนดราคาหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดย BKGI เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งใช้ชื่อย่อ ในการซื้อขายว่า "BKGI" ในหมวดบริการ/การแพทย์
ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) หรือการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินในปี 2573 มูลค่าตลาดจีโนมิกส์ของไทยจะแตะที่ระดับ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี 16.4% หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2564
ทั้งนี้ รายได้ในการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของ BKGI ในช่วงปี 2563 - 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 23.40% ต่อปี
"ธุรกิจของ BKGI มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมกะเทรนด์โลก BKGI สามารถให้บริการตรวจ และคัดกรองพันธุกรรมทุกช่วงอายุตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์, การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ และการตรวจวิเคราะห์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ภายใต้เครื่องหมายการค้า ได้แก่ NIFTY, VISTA, NOVA, BGI-XOME, COLOTECT, SENTIS และ DNALL ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้ใช้บริการ"
นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งจากการที่มี BGI ผู้ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมระดับโลก ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี NGS (Next-Generation Sequencing) และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม BGI ในด้านต่างๆ รองรับแผนขยายตลาดต่างประเทศในอนาคต ซึ่งถือเป็น New Growth ของ BKGI
ทั้งนี้ BKGI ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่ม BGI ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลก มาใช้ในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ของ BKGI เพื่อให้ประชากรไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยลักษณะการประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ธุรกิจการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 2) การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และการตรวจภูมิคุ้มกัน 3) การตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจคัดกรองกลุ่มยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และการตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆ และ 4) การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี
2. ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other Products) เช่น ชุดอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจ น้ำยาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ตามคำแนะนำของแพทย์