คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้นัดประชุมครั้งที่ 3/2567 หรือต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เพื่อต่อยอดและรายงานความคืบหน้าการบูรณาการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมประกาศผลการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศของสาขาหนังสือและภาพยนตร์ เมื่อ 15 มีนาคม 2567 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยครั้งนี้ มีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมในฐานะของ Focal Point ซอฟต์พาวเวอร์สาขาหนังสือ และหน่วยงานที่มีภารกิจในการผลักดันและเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการของไทย รายงานความสำเร็จการนำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหนังสือ Taipei International Book Exhibition (TIBE) 2024 ระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ไทเป สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเกิดขึ้นจากร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ซึ่งภายใน Thailand Pavilion มีผู้ประกอบการไทยจำนวน 23 ราย มีหนังสือมาจัดแสดงจำนวน 150 เล่ม ภายในคูหา Thailand Pavilion มีการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและนักธุรกิจต่างชาติจำนวน 153 คู่ พร้อมคาดการณ์มูลค่าจากการเจรจาธุรกิจกว่า 5 ล้านบาท โดยมีเทรนด์ที่ได้รับความสนใจ คือ หนังสือแนว Boys Love หรือ Girls Love อย่างไรก็ตาม ในปี 2026 ประเทศไทยจะเข้าร่วม งานหนังสือ Taipei International Book Exhibition (TIBE) ในฐานะ Guest of Honors อีกด้วย
สำหรับการสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผ่านมา ได้แก่งานภาพยนตร์ Hong Kong International Film & TV Market 2024 (FILMART) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม 2567 ณ เมืองฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งงานนี้ถือเป็นงานในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ติด 1 ใน 3 ของโลก โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พาผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมภายใต้คูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) จำนวน 27 บริษัท และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานด้วยตัวเอง 7 บริษัท โดยมีผลการจับคู่เจรจาธุรกิจจำนวน 413 คู่ มูลค่าซื้อขายคาดการณ์กว่า 2,633.98 ล้านบาท ถือเป็นผลที่เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ก่อนงานมาก โดยงานนี้ได้รับความสนใจจากคู่ค้า 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
นอกจากนี้ นายแพทย์สุรพงษ์ ได้กล่าวเสริมว่า "ตนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน FILMART 2024 ณ เมืองฮ่องกงที่ผ่านมาด้วย และพบว่าธุรกิจบันเทิงของไทย และกิจกรรมต่างๆ ภายใต้คูหาประเทศไทยมีความคึกคักและได้รับความนิยมมากเมื่อเปรียบเทียบกับคูหาประเทศอื่นภายในงาน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตลาดต่างประเทศ และในก้าวต่อไปทางคณะกรรมการฯ จะยังคงให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้สามารถไปเข้าร่วมงานที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ดังเช่นงาน Cannes Film Festival ณ ประเทศฝรั่งเศสต่อไป"
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ยังได้แจ้งข่าวดีให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ว่า "คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการให้สามารถขอทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชั่น ซึ่งถือเป็นกลไกและกลยุทธ์ที่สำคัญในการผลักดันและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาพยนตร์ไทยสู่สากลได้ โดยแบ่งทุนสนับสนุนออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่ (1) ภาพยนตร์ไทย (2) การร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ไทย (3) ภาพยนตร์หน้าใหม่ (4) ภาพยนตร์สารคดีไทย(5) ภาพยนตร์สำหรับเด็ก (6) ภาพยนตร์แอนิเมชั่น (7) ละครซีรีส์ในหมวดช่องโทรทัศน์ (8) ผู้ผลิตซีรีส์อิสระ (9) ละครและซีรีส์เด็ก และ (10) ซีรีส์วายไทย เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้บุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สนใจขอรับทุนสนับสนุนมีเวลาเตรียมการล่วงหน้าได้ ซึ่งจะมีการประกาศเกณฑ์ดังกล่าวในรายละเอียดต่อไป"
สำหรับการจัดงานมหาสงกรานต์ หรือ Maha Songkran World Water Festival 2024 ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนนั้น ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง เพื่อมุ่งหวังให้งานมหาสงกรานต์เป็นสื่อกลางในการแสดงศักยภาพความเป็นไทยและเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรมด้วยความสวยงามวิจิตรตระการตาให้ทั่วโลกได้รับรู้ หลังจากที่ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ "สงกรานต์ในประเทศไทย" เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การจัดงานในครั้งนี้ แม้มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและเวลาเตรียมการ แต่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐและเอกชนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม โดยที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่ได้ดำเนินการคัดเลือกและจัดทำขบวนพาเหรดสงกรานต์ที่แสดงออกถึงลักษณะเด่นเฉพาะของแต่ละจังหวัด จำนวน 16 จังหวัด ตลอดจนกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผน "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" เพื่อบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ควบคู่ไปกับกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้ให้การสนับสนุนให้มีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยที่หาชมได้ยาก และได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ในภาษาต่างประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติได้ซึมซับรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ไทยโดยปราศจากอุปสรรคทางภาษา
การประชุมในครั้งนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเชื่อมโยงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในระดับประเทศถ่ายทอดสู่ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานอนุกรรมการ มีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเป็นอนุกรรมการ และมีอนุกรรมการที่มาจากภาคเอกชน เช่น หอการค้า สมาคมการท่องเที่ยวประจำจังหวัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ระดับจังหวัดเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานและขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้บรรลุเป้าหมายเป็นภาพเดียวกันทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติต่อไป ทั้งนี้ ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งที่ 4/2567 จะจัดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2567 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ