"การสื่อสาร" หนึ่งคำง่าย ๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่และทรงพลัง โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบัน การสื่อสารแบบใหม่ได้ถูกผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอันทันสมัย ก่อให้เกิดนวัตกรรมการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว ใกล้ชิด และตรงจุด
อย่างไรก็ตามเบ้าหลอมของการสื่อสารนั้น ยังคงต้องพึ่งพา "ภาษา" ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารเนื้อหาต่าง ๆ ให้สามารถส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญไปกว่านั้น "ภาษา" ไม่ใช่เพียงแค่การพูดจา แต่ยังรวมไปถึงประสบการณ์ร่วมของบุคคลในแวดวงต่าง ๆ ที่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกันออกมาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วัจนภาษา เช่นเดียวกับคนในแวดวงสถาปัตยกรรม ที่มีการสื่อสารออกมาผ่านชิ้นงานการออกแบบเพื่อถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของผู้ออกแบบ
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "งานสถาปนิกในทุก ๆ ครั้ง เราตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่ที่สมาชิกได้มีโอกาสแสดงผลงานตัวเอง รวมถึงให้ประชาชนนั้นได้เข้ามารับรู้ ศึกษา ซึ่งแต่เดิมงานสถาปนิกจะเป็นการรวมกลุ่มของสถาปนิกที่เป็นสมาชิกมารวมกัน พร้อมกับ Supplier ต่าง ๆ จนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อมโยงไปยังกลุ่มอื่นมากขึ้น ทั้งการทำงานร่วมกับนักออกแบบด้านอื่น ๆ รวมถึงสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานควบคู่กับวิชาชีพสถาปนิกมาตลอดด้วย
การจัดงานในครั้งนี้ ตั้งใจจะขยายพื้นที่ของงานสถาปนิกออกไปให้กว้างกว่าเดิม โดยการดึงเพื่อนร่วมวิชาชีพจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไป รวมไปถึงเป็นการนำเสนอผลงานของวิชาชีพสถาปนิก ที่จะสื่อสารออกไปในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยงานสถาปนิก'67 ในปีนี้ เราอยากให้งานสถาปนิกนั้นเป็นเหมือนภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้ แม้ว่าจะมาจากต่างภูมิภาค เรายังคงสื่อสารกันได้ภายใต้ภาษาของสถาปนิก และนักออกแบบในวงกว้าง" นายชนะ กล่าว
สำหรับไฮไลท์ภายในงานสถาปนิก'67 มีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมสำคัญตลอดทั้ง 6 วันของการจัดงาน ประกอบด้วย นิทรรศการธีมงาน Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ที่จัดแสดงผลงานสถาปัตยกรรมจาก 12 สถาปนิกในเอเชีย ร่วมกับการจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมพันธมิตรมากถึง 22 ชาติ ใน ARCASIA
รวมทั้งยังมีนิทรรศการ All Member : The Collective Practices เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปร่วมสัมผัสวัฒนธรรมองค์กรและเบื้องหลังการทำงาน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม และกิจกรรม Collective Experience ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจาก Human Library ในงานสถาปนิก'66 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ และเรื่องราวตามความถนัดของผู้บรรยาย ผ่านการบอกเล่า และพูดคุยอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง
ด้านนายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะออแกไนเซอร์จัดงาน กล่าวว่า งานสถาปนิก'67 หรืองานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 36 นับเป็นเวทีที่รวบรวมนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากทั่วโลกไว้มากที่สุดในประเทศไทย ไฮไลท์ภายในงานนอกจากพื้นที่ของสมาคมฯ แล้ว ยังมี Thematic Pavilion ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงศักยภาพร่วมกันของแบรนด์ซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างและสถาปนิก ประกอบไปด้วย
- ถ้ำอะลูมิเนียม S-ONE (S-ONE Aluminum Grotto) ออกแบบโดย HAS design and research เป็นการนำอะลูมิเนียมมาสร้างพื้นที่ที่สะท้อนลักษณะทางธรรมชาติในรูปแบบใหม่ ให้ได้สัมผัสถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างผลผลิตทางอุตสาหกรรมกับการแสวงหาพื้นที่ในธรรมชาติของผู้คนในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นปรากฎการณ์บูรณาการรูปแบบใหม่ผ่านงานสถาปัตยกรรม
- Wilsonart (Laminates and Engineered Surface) ออกแบบโดย pbm เป็นการนำแผ่นลามิเนต 700 แผ่น ที่มาพร้อมกับสีสันและลวดลายที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละแผ่น มาจัดเรียงแบบอิสระ โดยจำลองและนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุและธรรมชาติ เพื่อต่อยอดถึงความ CONNEX กับธรรมชาติสู่ผู้เข้าชมงาน ด้วยเทคนิคและนวัตกรรมของการจัดแสดง สำหรับการจัดวางพื้นที่จะถูกออกแบบให้มีลักษณะสอดประสานกัน ระหว่างส่วน Thematic ที่เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ ร่วมกับพื้นที่ของ Exhibitor ที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรม โดยไม่ได้แบ่งแยกโซนออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อสื่อถึงความ "CONNEX" ระหว่างประสบการณ์ทั้งสองรูปแบบให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
- SKI (Tools and home improvement online store) ออกแบบโดย anonym studio สำหรับการออกแบบพื้นที่โดยรวมเป็นลักษณะของผนังสูงคล้ายรูปลักษณ์ของโกดังหลังใหญ่ ที่ถูกแบ่งโซนจากสี ขนาด ความสูง หรือฟังก์ชันที่ต่างกัน โดยมีการเจาะเป็นกรอบหน้าต่าง (Window Frame) ในตำแหน่งที่ตั้งใจเพื่อให้เห็นถึงผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงอยู่ภายในพื้นที่ด้านหลังห้อง ลักษณะการ Zoning ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเชื่อมโยงจากผนังโกดังที่วิ่งตรงแล้วค่อย ๆ โค้งเข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ทำหน้าที่เสมือนเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน หรือเป็นการเดินทางของผู้ชมงาน ที่ถูกเชื้อเชิญเข้ามาภายใน Pavilion ได้มาทำความรู้จักกับแบรนด์ SKI
สำหรับงานสถาปนิก'67 ครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายจะขยายการจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่างานที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้แสดงสินค้ากว่า 1,000 ราย เพิ่มขึ้น 9.4% ซึ่งเป็นผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศ ประมาณ 30% และในด้านผู้เข้าชมงานคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 325,000 คน เพิ่มขึ้น 6.25%
ทั้งนี้ ผู้แสดงสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำต่างพร้อมนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์โซลูชันล่าสุดเพื่อพัฒนาและยกระดับธุรกิจด้านการออกแบบ-ก่อสร้างแล้ว อาทิ
- แผ่นหลังคาไวนิล วีจี รุ่น วินเทอร์ รูฟ (Winter Roof) จากแบรนด์ VG ที่สามารถเป็นได้ทั้งหลังคาหลัก หลังคาต่อเติมกันสาด และสามารถนำไปทำเป็น Facade ผนัง-เปลือกอาคารไวนิลได้ ทั้งยังสามารถนำมา Recycle ได้ 100%
- จระเข้ โรด ฟิกซ์ เอ็กซ์เพรส (Crocodile Road Fix Express) จากแบรนด์ JORAKAY ผลิตภัณฑ์ปูนมอร์ตาร์ผสมสำเร็จสำหรับงานซ่อมแซมพื้นผิวถนนคอนกรีตชนิดบาง ยึดเกาะกับพื้นผิวเดิมได้ดีโดยไม่ต้องทำการรื้อเปิดผิวหน้าพื้นผิวเดิม แห้งตัวได้ไว สามารถเปิดใช้งานพื้นที่ได้ภายใน 6 ชั่วโมง
- Micro-Structure Innovative Tile Surface จากแบรนด์ WDC นวัตกรรมกระเบื้องที่มีผิวสัมผัสเหมือนจริงแบบหินธรรมชาติจากลักษณะผิวที่มีการพิมพ์แบบพิเศษทำให้กระเบื้องสามารถพาวงการสถาปัตยกรรมให้ออกจากข้อจำกัดเดิม ๆ ของผิวหน้ากระเบื้องที่ดูไม่เหมือนธรรมชาติ
- Pet Collection จากแบรนด์ Gelato "Ceramica" เป็นกระเบื้องพื้นและผนังสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง ที่มาพร้อมนวัตกรรม Safe Paws Tech ช่วยให้สัตว์เลี้ยงเดินและทรงตัวได้ดีขึ้น มีผิวสัมผัสเรียบ ลดการเสียดสีกับอุ้งเท้า ทำความสะอาดง่าย และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
สำหรับงานสถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยทางผู้จัดงานได้จัดเตรียมรถตู้บริการรับ-ส่งฟรี จากงานสู่ปลายทาง 3 สถานีรถไฟฟ้า (MRT สถานีสวนจตุจักร, MRT สถานีพระราม 9, MRT สถานีศรีรัช) ตั้งแต่เวลา 09.30 - 20.30 โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้แล้ววันนี้! พร้อมรับหนังสือ Architect'24 Hand Guide (สิทธิ์มีจำนวนจำกัด) และลุ้นรับของที่ระลึกหน้างาน มูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.ArchitectExpo.com และ Facebook Page : งานสถาปนิก : ASA EXPO