บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เซ็นสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ โดยมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 8.0 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรียบร้อยแล้ว คาด SCOD ในปี 69 พร้อมเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในประเทศ ประมาณ 4 โครงการ รุกขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์-พลังงานลมในสปป.ลาว-กัมพูชา ดันผลงานปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อน
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางบริษัท สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย จำกัด ที่ตั้งโครงการ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (กิจการร่วมค้าของ TPCH) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยใช้เชื้อเพลิงมูลฝอย ในปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 8 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดวัน SCOD ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569
"โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ซึ่งดำเนินการภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ และมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 8 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FIT ราคาหน่วยละ 5.78 บาท (8 ปีแรก) และการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ มี PPA ในส่วนของโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มเป็น 19.4 เมกะวัตต์ จึงมั่นใจว่า จะเป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนให้รายได้ในปีนี้เติบโตที่ระดับ 10% จากปีก่อน" นางกนกทิพย์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 (SP3) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มอีก ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ
ขณะที่ การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จำกัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2567-2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ
ส่วนการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ TPCH ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569