สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เดินหน้าโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟให้อาคารต่างๆ ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารสำนักงานทั้งหมด ช่วยรัฐประหยัดค่าไฟปีละ 1.78 ล้านบาท รวมตลอดโครงการประหยัดไฟได้ประมาณ 21 ล้านบาท และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละกว่า 500 ตัน เทียบเท่าปลูกต้นไม้ปีละ 295 ต้น
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง ร่วมลงนามในสัญญาให้บริการโครงการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือก ในพื้นที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) วันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า "MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้านพลังงานหมุนเวียน พร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคส่วนส่งเสริมดำเนินตามนโยบายภาครัฐ โดย MEA มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ โดยให้บริการการติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 911.90 kWp จะทำให้ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลประมาณ 1,180.93 MWh/ปี ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 1.78 ล้านบาท/ปี และคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 519.73 tonCo2/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นสักประมาณ 295.30 ต้น/ปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นไปตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อบรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ"
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "สถาบันฯ ได้รับนโยบายรัฐบาลที่ให้หน่วยงานราชการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไฟฟ้า กอปรกับการไฟฟ้านครหลวงมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยระบบการใช้พลังงานทดแทน จึงนำมาสู่การลงนามร่วมสัญญาการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ขนาด 911.90 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) ในพื้นที่อาคารสิรินธรวิชโชทัย และอาคารปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งจะให้พลังงานไฟฟ้าที่ครอบคลุมการใช้งานของอาคารสำนักงานทั้งหมด"
"โครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของสถาบัน ฯ ที่จะได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักสากล ซึ่งยังส่งผลให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ และที่สำคัญจะเป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และกระทรวง อว. เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และยังสอดคล้องกับนโยบายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่ง โครงการฯ นี้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยมุ่งเน้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ในด้าน Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ที่คำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ลดภาวะโลกร้อน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ต่อทั้งสถาบัน ฯ สังคม ประชาชน และโลกของเรา"
สำหรับผู้สนใจจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130