นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของ กทม.ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยสะสม 1,503 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.64 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ และน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 66 เล็กน้อย แต่มากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดย สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต พัฒนาปรับปรุง ระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 5ป 1ข คือ ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ปล่อยปลาลงในอ่าง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ รวมถึง "3 เก็บป้องกัน 3 โรค" คือ เก็บบ้าน ไม่ให้รก เก็บขยะ ไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง ทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ
นอกจากนั้น ได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย ภายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง และได้ประสานความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และผู้นำชุมชนสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะชุมชนที่พบอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูง
อีกทั้งสนับสนุนสารเคมีต่าง ๆ ในการใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างเพียงพอต่อความต้องการของเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนผ่านสื่อทุกช่องทาง ส่วนในสถานพยาบาล กทม.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อต่าง ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงการจ่ายยาทากันยุงให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน