สปสช. เชิญชวนผู้มีคุณสมบัติร่วมสมัครรับคัดเลือกเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สมัยวาระ พ.ศ. 2567-2571 โดยในส่วนของการคัดเลือกผู้แทนองค์กรเอกชนจะเปิดรับขึ้นทะเบียนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร จนถึงวันที่ 22 มี.ค. 2567
นางอุดมลักษณ์ อุ่นศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ชุดปัจจุบันจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง วันที่ 4 พ.ค. 2567 สปสช. ขอประกาศเชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายเข้ามาสมัครเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการ สมัยวาระ 2567-2571 เพื่อร่วมดูแลสุขภาพประชาชนชาวไทย
สำหรับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จะมีความเป็นอิสระต่อกัน โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะทำหน้าที่ดูแลกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ส่วนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จะดูแลคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขของประชาชน
ทั้งนี้ สปสช. ได้ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้แทนในระดับจังหวัดสำหรับตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนผู้ประกอบโรคศิลปะ จากนั้นจะเป็นการคัดเลือกในระดับประเทศซึ่งมีกำหนดการในระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค. 2567 ส่วนผู้แทนของโรงพยาบาลเอกชนจะมีการคัดเลือกระดับประเทศครั้งเดียวในวันที่ 8 พ.ค. 2567
นางอุดมลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชน (NGOs) สปสช. ได้ประกาศรับขึ้นทะเบียนตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 22 มี.ค. 2567 โดยเมื่อปิดรับสมัครแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศผลการขึ้นทะเบียนในวันที่ 1 เม.ย. 2567 และในกรณีขององค์กรเอกชนใดไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ สปสช. จะเปิดให้มีการอุทธรณ์โดยจะมีการพิจารณาอุทธรณ์ในวันที่ 19 เม.ย. 2567 และประกาศผลอุทธรณ์ในวันที่ 22 เม.ย. 2567 ซึ่งองค์กรเอกชนที่ผ่านการรับขึ้นทะเบียนทั้งหมดจะมาคัดเลือกระดับประเทศในวันที่ 9 พ.ค. 2567
สำหรับ "ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีบทบาทขับเคลื่อนเป็นกระบอกเสียงหลักในการจัดสิทธิประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะมาจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้กำหนด และในส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ก็จะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยดูแลในเรื่องของสิทธิของประชาชนว่าการให้บริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ มีข้อขัดข้องในการรับบริการในจุดไหนบ้าง ถือว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างมาก" ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว