นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการระบบระบายน้ำของ กทม.รองรับสถานการณ์ฝนตกว่า สนน.ได้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำในบ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำต่าง ๆ เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามและตรวจกลุ่มฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. ระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน และสถานการณ์น้ำ โดยมีระบบโทรมาตรในการตรวจสอบสถานีเครือข่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย ระบบการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและในคลอง 255 แห่ง ระบบตรวจวัดปริมาณฝน 130 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด 8 แห่ง ลดระดับน้ำตามคูคลองและบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือแจ้งให้ทุกส่วนราชการเตรียมพร้อมรับพายุฤดูร้อน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน เช่น ให้ติดตามและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสภาพอากาศ ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ควบคุมระดับน้ำตามแผน ตรวจสอบจุดก่อสร้างที่จะมีผลกระทบกับการระบายน้ำ พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ระบบไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ และบุคลากร เพื่อเข้าพื้นที่ได้ทันที เตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ตรวจอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้างให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเตรียมรถดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัย เครื่องมือและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุลมกระโชกแรงและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ จัดรถสายตรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือประชาชน จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังและจัดเตรียมกำลังคน เครื่องมือ ออกปฏิบัติการแก้ไขเหตุต้นไม้หักโค่นล้มกีดขวางถนนและการจราจร หรือกระทบต่อบ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งให้สำนักงานเขตจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยเหลือประชาชน อำนวยความสะดวกด้านการจราจร หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และเมื่อมีเหตุต้นไม้หักโค่น ป้ายโฆษณาล้ม ให้เข้าดำเนินการแก้ไขโดยทันที
สำหรับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนน.ได้ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน.ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.ต่อไป