สวทช. ร่วม KANEKA และเอกชนจากญี่ปุ่น หวังพัฒนาระบบติดตั้ง สร้างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ คาเนกะ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (KANEKA Corporation) จัดพิธีเปิด "อาคารประเมินประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร (Building-Integrated Photovoltaic: BIPV) ที่ติดตั้งใช้งานในประเทศไทย" แห่งแรกในไทย" ซึ่งตั้งอยู่ ณ สวทช. พร้อมพันธมิตร ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น (TAISEI Corporation) และ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ร่วมผลักดัน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ภารกิจของเราคือการดำเนินการและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา การออกแบบและวิศวกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สทน.) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งหวังที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศในด้านความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย อีกทั้งตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเศรษฐกิจโลก โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรจากภาคการศึกษา ภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy สวทช. มุ่งมั่นสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่ส่งเสริมความยั่งยืน เรายอมรับถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบทบาทสำคัญของพลังงานหมุนเวียนในความพยายามนี้ อาคารต้นแบบ "BIPV Solar House Building" ณ ทางเข้าหลักของสวนวิทยาศาสตร์แห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้" ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวเสริม
ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค สวทช.) กล่าวว่าโครงการ"การประเมินแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในรูปแบบผสมผสานกับอาคาร (BIPV) ที่ติดตั้งและดำเนินการในประเทศไทย" เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสาธิตเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วม ปี 2021 จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมอบเงินทุนสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วม มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในทางนวัตกรรมระหว่างญี่ปุ่น และประเทศพันธมิตร มุ่งสู่สังคมปลอดคาร์บอน จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง คาเนกะ คอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น กับสวทช. ร่วมด้วย ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น พันธมิตรของบริษัท และ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) พันธมิตรของสวทช. จนเกิดขึ้นเป็นโครงการในวันนี้
"โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินผลการผลิตไฟฟ้าของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในรูปแบบร่วมกับอาคารสิ่งปลูกสร้าง (BIPV, Building Integrated Photovoltaics) ในประเทศไทยที่มีเขตสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ซึ่งปัจจุบันการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์นิยมติดตั้งบนหลังคาในอาคารที่อยู่อาศัย อาคารธุรกิจ และอาคารอุตสาหกรรมหลายแห่ง โครงการฯ นี้นับเป็นการก้าวไปอีกขั้นของเซลล์แสงอาทิตย์ จากเดิมที่มีการติดตั้งบนหลังคา ก็จะมีการผสมผสานเซลล์แสงอาทิตย์เข้ากับงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตข้างหน้า จะมีการติดตั้งแบบ BIPV มากขึ้น มีการใช้พื้นที่โดยเฉพาะผนังอาคารเป็นที่ติดตั้งในรูปแบบที่หลากหลาย ดังนั้นการศึกษาและเปรียบเทียบผลการผลิตไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความต่างเทคโนโลยี ที่ติดตั้งในรูปแบบ BIPV แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการออกแบบระบบ BIPV สำหรับใช้ติดตั้งบนผนังอาคารในประเทศไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป" ดร.ลิลี่ กล่าวเสริม