นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและตรวจสอบการจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโดยรอบสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนศ.ได้บูรณาการความร่วมมือการทำงานด้านยาเสพติดกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกสังกัด กทม.โดยจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยา หรือสารเสพติดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กัญชง และกระท่อม โดยที่ผ่านมา สนศ.ได้แจ้งเรื่องการตรวจตราการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ โดยให้สำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกันระหว่างฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจตราไม่ให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณรอบโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนสอดส่องดูแลไม่ให้เยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยา หรือสารเสพติดทุกรูปแบบ
ขณะเดียวกันได้กำชับโรงเรียนในสังกัด กทม.ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัดทุกระดับขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ดังนี้ (1) ประกาศนโยบาย "โรงเรียน...ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า" พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงเรียน (2) จัดการเรียนการสอนเรื่องอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น (3) จัดรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก และการทำบ้านให้ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าแก่ผู้ปกครอง และ (4) ให้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยขณะนี้ สนศ.อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชากัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขของโรงเรียนในสังกัด กทม.รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่เน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมออกสู่ชุมชนและออกสู่ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง เช่น กิจกรรมชวนพ่อแม่เลิกบุหรี่ กิจกรรมในวันพ่อวันแม่บอกรักมอบความรักให้ผู้ปกครองด้วยการขอให้เลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมีกิจกรรมอื่น ๆ ของโรงเรียน เช่น การจัดประชุมผู้ปกครอง เครือข่ายผู้ปกครองในโรงเรียน การขอความร่วมมือดำเนินกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
นอกจากนั้น สนศ.ได้มีหนังสือกำชับโรงเรียนในสังกัด กทม.ขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตาม 7 มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเคร่งครัดและให้โรงเรียนรายงานผลการดำเนินการให้ สนศ.ทราบทุกปีการศึกษา พร้อมทั้งนำเข้าข้อมูลอัตราการใช้ยา หรือสารเสพติดของนักเรียนผ่านทางระบบดูแลและติดตามการใช้ยาและสารเสพติดในสถานศึกษา (CATAS System : Care And Trace Addiction in School System) อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) กำหนดนโยบาย "โรงเรียน...ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า" ของโรงเรียน เป็นลายลักษณ์อักษร และถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2) บริหารจัดการภายในโรงเรียนให้ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยจัดตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน 3) จัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 4) สอดแทรกความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าและผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตรแก่นักเรียนทุกระดับชั้น 5) ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมประกวดสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ 6) จัดกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยคัดกรอง ป้องกันนักเรียน ให้คำปรึกษา กรณีพบนักเรียนติดบุหรี่ไฟฟ้าให้ส่งต่อนักเรียนเข้าสู่ระบบบริการเลิกบุหรี่ตามความเหมาะสม และ 7) จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักเรื่องโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน