กลุ่มบริษัทบีทีเอส กทม. สสส. จับมือแสดงนิทรรศการ The Air We Share มุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่นเมือง นำร่องปกป้องสุขภาพจากภัยฝุ่นพิษ PM2.5

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2024 09:59 —ThaiPR.net

กลุ่มบริษัทบีทีเอส กทม. สสส. จับมือแสดงนิทรรศการ The Air We Share มุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่นเมือง นำร่องปกป้องสุขภาพจากภัยฝุ่นพิษ PM2.5

วันที่ 22 มีนาคม 2567 ณ บริเวณทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมจัดกิจกรรม The Air We Share ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม - วันที่ 3 เมษายน 2567 โดยมี นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร, นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ศาสตราจารย์พิเศษ เจริญ วรรธนะสิน กรรมการอิสระ และกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน, นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่ด้านการลงทุน และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมพันธมิตร และภาคีเครือข่ายร่วมเปิดงาน ซึ่งเป็นการจัดแสดงนิทรรศการความรู้, Mini Workshop, การทำเครื่องฟอกอากาศ DIY, หน้ากากกันฝุ่น DIY, คลินิกตรวจสุขภาพปอดให้ปลอดฝุ่น, บูธให้คำแนะนำการปลูกต้นไม้กรองฝุ่น, แจกต้นไม้ลดฝุ่น, ห้องปลอดฝุ่นปอดดี, การขนส่งทางเลือกลดฝุ่น บอร์ดเกม PM2.5 Bangkok crisis, Mini survey เสียงสะท้อนของคนกรุงเทพฯ และการสื่อสารสาธารณะเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีเป้าหมายให้ประชาชนทั่วไปตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง

นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่ด้านการลงทุน และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีทีเอส กรุ๊ปฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น (Climate Action) และสร้างความตระหนัก พร้อมกับส่งเสริมแรงผลักดันความร่วมมือของประชาชนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาภัยอันตรายของฝุ่น PM 2.5 และส่งเสริมสิทธิของทุกคนในการสูดอากาศบริสุทธิ์ และคุณภาพชีวิตที่ดี โดยนับตั้งแต่ปี 2542 คุณคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้เริ่มให้บริการ รถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีเจตนาที่จะช่วยแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นในกรุงเทพฯ ซึ่งบริษัทฯ ไม่เคยละทิ้งเป้าหมาย ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านขนส่งสาธารณะที่คาร์บอนต่ำ โดยการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสามารถช่วยลดปัญหารถติด ลดฝุ่น และลดโลกร้อนได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีความภูมิใจที่เรา และผู้โดยสารได้มีส่วนร่วมในการช่วยประเทศหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 2.1 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 222 ล้านต้น

"ในครั้งนี้ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากภาครัฐบาล ทั้งกทม. และ สสส. รวมถึงพันธมิตรจากกลุ่มบริษัทบีทีเอส ในการจัดงาน The Air We Share ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน รู้วิธีป้องกัน และรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ว่าทุกคนสามารถมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาฝุ่นได้ ผ่านการจัดนิทรรศการการเสวนา และกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ โดยบริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่งาน The Air We Share สามารถรวบรวมทุกคนให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นอยู่ในขณะนี้ จึงอยากเชิญชวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เปลี่ยนวิธีการเดินทางที่ยั่งยืน โดยมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และสายสีชมพู, รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว อันเป็นปัจจัยหลักของปัญหาฝุ่นมลพิษมากกว่า 50% ในกรุงเทพฯ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐบาลในการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมให้มีความสะดวกเข้าถึงทุกพื้นที่ และสนับสนุนทุกการเดินทางที่ยั่งยืนให้กับคนไทยทุกคน"

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาหมอกควัน (Haze) และฝุ่นละออง (Particulate matter) ที่ปนเปื้อนในอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป หรือ The European Economic Area (EEA) ที่ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากได้รับในปริมาณมาก และเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อหุ้มปอด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง เป็นสาเหตุอันดับ 2 รองจากบุหรี่ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ส่งผลให้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต ก่อนวัยอันควรกว่า 2 ล้านคน

"ล่าสุด ช่วงกลางคืนวันที่ 20 มี.ค. ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี สูงสุดอยู่ที่ 143.5 มคก.ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 37.5 มคก.ลบ.ม.) สาเหตุหลักเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง สสส. เร่งสานพลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม The Air We Share นิทรรศการสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมของสังคมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เน้นให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดฝุ่นละออง ช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการทำกิจกรรมนอกอาคาร หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง นำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ รู้ทันฝุ่น"

นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากรถยนต์ดีเซลกว่า 50% ซึ่ง กทม. ได้กำหนดมาตรการลดฝุ่นกว่า 30 เรื่อง เช่น การรณรงค์ Work from Home เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ระดับสีแดง รวมทั้ง ร่วมกับ สสส. รณรงค์เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศรถยนต์ ในการนี้ ได้ร่วมกับ สสส. จัดกิจกรรม The Air We Share นำร่องในเขตปทุมวัน เน้นสร้างองค์ความรู้ให้ทุกคนตระหนักว่าปัญหาฝุ่น และมลพิษทางอากาศ ถือเป็นการพัฒนาแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง มุ่งลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนร่วมพัฒนาแนวทางลดมลพิษอากาศสอดคล้องแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 2567 ของ กทม.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ