มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับช้างและสัตว์ป่ามาอย่างยาวนานหลายยุคหลายสมัย บางครั้งก็อยู่ด้วยกันอย่างปรองดอง แต่ในบางครั้งก็เกิดปัญหาและความขัดแย้งระหว่างกัน การตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รวมไปถึงการเคารพในสิทธิของทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ก่อให้เกิดการแย่งพืชผลจนขาดแคลนอาหาร หรือปะทะกันจนนำไปสู่การบาดเจ็บหรือคร่าชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การอยู่ร่วมกันระหว่างช้างกับชุมชนท้องถิ่นและชาวเมืองยังคงมีทั้งผลดีและผลเสีย แม้ว่าคนเมืองจะรู้สึกห่างไกลจากธรรมชาติและสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช้างป่า แต่การสร้างความเข้าใจในหมู่คนเมืองเพื่อผลักดันให้เกิดการเคารพและเข้าอกเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้าง ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันช้างไทยในเดือนมีนาคม WWF ประเทศไทย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานด้านอนุรักษ์เพื่อสัตว์ป่าและธรรมชาติ จะมาร่วมเจาะลึกถึงข้อดี 3 ประการของการอนุรักษ์ช้างที่ควรค่าแก่การตระหนักรู้ในระดับสากล
ความสมดุลของระบบนิเวศ
ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นวิศวกรแห่งระบบนิเวศที่สำคัญ โดยช้างมีบทบาทต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยสร้างระบบนิเวศของป่าไม้ที่สมบูรณ์ รวมถึงช่วยสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ และทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วยการเบิกทางในพื้นที่ป่าและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งการจัดการโครงสร้างใหม่ให้กับพืช ดิน และน้ำ นับเป็นการช่วยควบคุมสมดุลของระบบนิเวศอันเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน การกระทำเหล่านี้ยังช่วยในเรื่องของการรับมือต่อสภาพอากาศที่แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากป่าไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์จะทำหน้าที่เป็น 'แหล่งกักเก็บคาร์บอน' ที่จะช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโดยรวมอีกด้วย
นอกจากนี้ ช้างยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์และสารอาหารต่าง ๆ ในวงกว้างผ่านผลไม้และหญ้าที่ปนออกมาทางอุจจาระ ส่งผลให้ป่าไม้มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์และมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าช้างมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างระบบนิเวศทั่วโลกให้มีความสมดุลขึ้น ไม่ใช่แค่ในทวีปเอเชียเพียงอย่างเดียว
การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)
หนึ่งในโอกาสของการอนุรักษ์ช้างป่าคือการช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคส่วนต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ไม่ว่าจะเป็น WWF ประเทศไทย เจ้าหน้าที่อุทยานฯ รวมถึงสมาชิกชุมชนในพื้นที่ ต่างร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้าง โดยหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จคือการส่งเสริมให้กุยบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า หรือเรียกได้ว่า 'กิจกรรมส่องสัตว์ที่กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย' วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับแต่ละภาคส่วน พร้อมทั้งมอบประสบการณ์ให้ผู้คนทั่วไปได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตและการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าในอุทยาน อาทิ ช้าง กระทิง และสัตว์อื่น ๆ
นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองที่เข้ามาชมสัตว์ป่าภายในอุทยานฯ ยังสามารถหลีกหนีจากความวุ่นวายในสังคมเมือง เข้ามาสัมผัสชีวิตรูปแบบใหม่กับวิถีธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมกับเรียนรู้การดำรงชีวิตและความเฉลียวฉลาดของสัตว์ป่าเหล่านี้ นอกจากนี้ การที่นักท่องเที่ยวได้ส่องช้างป่าและสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ชาวบ้านโดยรอบตระหนักถึงประโยชน์ของการมีอยู่ของช้าง แทนที่ความโกรธเคืองในอดีตจากการที่ช้างทำลายพืชผลทางการเกษตร
มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย
การอนุรักษ์ช้างช่วยเสริมความภาคภูมิใจให้กับคนไทย และช่วยรักษามรดกและเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทย ในขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรองดองกันในสังคม ช้างและคนไทยมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ในความเชื่อดั้งเดิมของไทยนั้น ช้างถือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความแข็งแกร่ง และความเฉลียวฉลาด รวมถึงเป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ช้างมีบทบาทอย่างมากในวัฒนธรรมประเพณีของประเทศไทย เห็นได้จากการจัดเทศกาลต่าง ๆ มากมายเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับช้าง ยกตัวอย่างเช่น งานช้างจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งภายในงานเทศกาลเหล่านี้มีกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนช้าง การแสดงพื้นเมือง รวมถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น ช้างยังปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรม วรรณกรรม และคติความเชื่อของไทย อันเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ ความปลอดภัย และความมั่งคั่ง แม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยก็นิยมซื้อของฝากและร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับช้างเช่นกัน
ร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งวันช้างไทยปี 2567 แด่ช้างที่เป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมสังคมไทยไปกับพวกเรา หากเราร่วมมือกันจะช่วยสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนระหว่างคนกับช้างได้เหมือนกับที่ WWF ได้ดำเนินงานภายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีร่วมกับเหล่าผองเพื่อนของช้าง Elly Allies ทุกท่านสามารถติดตามชม Docu-Series ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงพลังแห่งความร่วมมือ รวมถึงรับชมและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ 'We're Ele-friends: เพื่อช้างเพื่อนเรา' ได้ที่เพจ Facebook: WWF Thailand
WWF ประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นในการดูแลรักษาธรรมชาติเพื่อคนและสัตว์ป่า ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า #TogetherPossible ทุกคนสามารถติดตามโครงการอนุรักษ์อื่น ๆ ภายใต้ WWF-Thailand ได้ผ่านช่องทาง Facebook WWF-Thailand, X WWF-Thailand และเว็บไซต์ www.wwf.or.th