เข้าใจ เปิดใจกับโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว

ข่าวทั่วไป Tuesday April 2, 2024 16:55 —ThaiPR.net

เข้าใจ เปิดใจกับโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว

30 มีนาคม วันไบโพลาร์โลก World bipolar day กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับโรคไบโพลาร์ ซึ่งครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษา คอยให้กำลังใจ สังเกตอาการ ควบคุมกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในช่วง Mania และคอยรับฟังผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งบทความให้ความรู้โดย พญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ จิตแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายวิธีสังเกตอาการ สาเหตุ วิธีที่ควรเลี่ยงในการดูแลผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ เอาไว้อย่างละเอียด สำหรับนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อจะได้เข้าใจ และดูแลคนรอบข้างที่เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ได้ถูกต้อง

  • สาเหตุโรค

ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์นั้น มีได้หลายสาเหตุซึ่งแบ่งออกได้เป็น

  • ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท ในสมอง ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย , การนอนหลับที่ผิดปกติ, ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
  • ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียด หรือปัญหาต่าง ๆ ภายในชีวิตได้ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ขึ้นมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางสังคมไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการได้
  • ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ ขณะนี้ เรายังไม่ทราบรูปแบบของการถ่ายทอดผ่านยีนที่ชัดเจนของโรคไบโพลาร์ แต่จากการศึกษาพบ ว่าสามารถพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็น bipolar มากกว่าในประชากรทั่วไป
    • วิธีสังเกตอาการ

    โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นหลัก มีอาการแสดงออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

    กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี หรือคึกคัก สนุกสนาน แสดงออกอย่างเต็มที่ พูดมาก พูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด ความคิด พรั่งพรู มีโครงการมากมายเป็นร้อยเป็นพันล้าน รู้สึกว่าตนเองเก่ง มีความสามารถมาก มีความสำคัญมาก ความมั่นใจในตนเองสูง เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย สมาธิไม่ดี วอกแวก สนใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง หุนหันพลันแล่น การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ซื้อของแพง มากมายเกินจำเป็น ซื้อทีละเยอะ ๆ แจกคน เล่นการพนัน ก่อหนี้สินมากมาย ทำเรื่องเสี่ยงอันตราย ผิดกฎหมาย ชอบเที่ยวกลางคืน ความต้องการทางเพศสูง มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม บางคนหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ

    กลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) เกิดขึ้นบ่อยกว่ากลุ่มอาการแมเนียเกือบ 3 เท่า โดยมีลักษณะเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ อาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ มองทุกอย่างในแง่ลบ ความสนใจหรือเพลิดเพลินใจในสิ่งต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจ ความจำไม่ดี สมาธิลดลง นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เป็นภาระ รู้สึกไร้ค่า บางรายคิดอยากตาย

    ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอาการสองกล่มข้างต้น โดยอาการในแต่ละกลุ่มอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

    • วิธีดูแลผู้ป่วย

    เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการเสียสมดุลของสารสื่อนำประสาท ดังนั้น ยา จึงเป็นปัจจัยหลักของการรักษาที่ช่วยปรับระดับสารสื่อนำประสาทให้เข้าสู่สมดุล ปัจจุบันมียาอยู่หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 - 4 สัปดาห์ จึงเห็นผล ได้แก่ ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านโรคจิต และยาต้านซึมเศร้า ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย

    ส่วนญาติควรให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย ดังนี้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค สังเกตอาการเริ่มต้น

    เรียนรู้การรับมือพฤติกรรมก้าวร้าว เสี่ยงฆ่าตัวตาย โดยเทคนิคที่สำคัญที่สุด คือ การรับฟัง คุยกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียง จังหวะ และคำพูดที่เหมาะสม อย่ากระตุ้นผู้ป่วยด้วยการโต้แย้ง ชวนทะเลาะ หรือท้าทายผู้ป่วย และจัดเก็บสิ่งของที่อาจนำมาใช้เป็นอาวุธให้มิดชิด การรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และท้ายที่สุดผู้ดูแลก็จำเป็นจะต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตนเองด้วยเช่นกัน

    • ใครเสี่ยง?

    ผู้ที่มีการเกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน มีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง อาการหลงผิดเกิดขึ้นร่วมกับอาการทางอารมณ์ มีปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มีประวัติติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย มีประวัติโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์เศร้าในครอบครัว

    • ควรเลี่ยงอะไร

    ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาใหม่ ที่พบบ่อย คือ ภาวะเครียดมาก การอดนอน และการขาดยา ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม คือ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุรา ยาเสพติด กินยาตามแพทย์สั่ง

    • สถิติคนไทยป่วยเท่าไร?

    ความชุกชั่วชีวิตของโรคนี้โดยรวมที่สำรวจในประชากรทั่วไป พบได้สูงถึงร้อยละ 1.5 -5 พบได้บ่อยทั้งผู้หญิงผู้ชาย ในอัตราเท่ากัน ๆ ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2564 ระบุไว้ว่า "พบคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่เข้ามารับการบำบัดรักษาเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น" ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Center) โทร. 1507 I Line: @navavej


    แท็ก ครอบครัว  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ