นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร "เช็กความพร้อมอุตสาหกรรมการบิน รองรับการบินใหม่ในอนาคต" และร่วมแถลงข่าวการเตรียมแผนพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ความคืบหน้าการก่อสร้างรันเวย์ การเตรียมความพร้อม aviation hub ตอบรับนโยบายนายกฯ รวมทั้งแผนพัฒนาพื้นที่สนามบินเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง พร้อมกับ นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA)
ภายในงานมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาให้เป็น "สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3" และเป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศ" หลังจากนั้น จึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามข้อมูลต่างๆ จากนั้นจึงพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่โครงการก่อสร้างเมืองการบิน ณ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสนามบินสาธารณะ จำนวน 39 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว มีสนามบินที่เปิดให้บริการระหว่างประเทศ จำนวน 10 แห่ง ซึ่ง กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานสนามบินสาธารณะของไทย จึงให้ความสำคัญกับการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะสำหรับสนามบินที่ให้บริการระหว่างประเทศ (International airport) เป็นลำดับแรก ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการตรวจสอบ จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยในปัจจุบัน มีสนามบินที่ถือใบรับรองฯ จำนวน 9 แห่ง โดย 8 แห่งเป็นสนามบินที่เปิดให้บริการระหว่างประเทศ
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา เป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ ความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ทั้ง B777 , B787 , A330 รวมถึง Antonov โดยท่าอากาศยานได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และดำเนินการตามกระบวนการจนได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา ได้ให้บริการทั้งการบินภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาสนามบิน
อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ที่เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้ง 3 ท่าอากาศยานสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
นายสุทธิพงษ์ คงพูล กล่าวต่อไปว่า เมื่อสนามบินได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะแล้ว กพท. จะมีการตรวจติดตามมาตรฐานสนามบินเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สนามบินยังคงได้มาตรฐานในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินงานประกอบใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา ได้รับใบรับรองฯ เมื่อปี 2565 กพท. ก็ได้ดำเนินการตรวจติดตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ติดตามมาตรฐาน ด้านแผนฉุกเฉินและดับเพลิงกู้ภัย ด้านการดำเนินงานในเขตการบิน และการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และ ติดตามมาตรฐาน ด้านแผนฉุกเฉินและดับเพลิงกู้ภัย ด้านกายภาพสนามบิน และด้านเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประเภททัศนวิสัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พร้อมเดินหน้าส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานสากล และตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการเดินหน้าขับเคลื่อน "คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน"