ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเป็นท้าทายในการต่อสู้กับปัญหาไฟป่าที่คุกคามระบบนิเวศของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางตอนเหนือที่กำลังเผชิญกับความท้าทายของไฟป่า และฝุ่น PM 2.5
ในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 101 ล้านไร่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 31.47% ของประเทศ แต่หลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ของไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างรุนแรง โดยข้อมูลในปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปกว่า 317,000 ไร่ หรือคิดเป็น 0.31 ของผืนป่าทั้งหมด โดยมีสาเหตุสำคัญจาก การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับชุมชน ก่อให้เกิดหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน นั่นทำให้ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งรางวัลนำจับผู้ลักลอบเผาป่า โดยจะยินดีมอบรางวัลให้ 10,000 บาท สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสที่นำไปสู่การจับกุม และนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นจาก PM2.5 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคน กับแนวทางปฏิบัติดั้งเดิม ในการเผาของเศษซากของพืชหลังการเก็บเกี่ยว การแผ้วถางพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และการหาผลิตภัณฑ์จากป่า การกระทำที่เกิดขึ้นได้รับแรงผลักดันจากความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิในการตัดสินใจในการร่วมดูแลป่าไม้ โดยป่าชุมชนเป็นพื้นที่ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนจะมีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยป่าชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการ ดูแลและจัดการกับปัญหาไฟป่าได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชมทั้งสิ้น 11,985 โครงการ มีเนื้อที่รวม 6.56 ล้านไร่
การจัดการกับปัญหาไฟป่าอย่างได้ผลนั้น คือการให้สิทธิการจัดการกับชุมชนท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่า ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน สร้างระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและเสมอภาค เมื่อชุมชนได้รับความไว้วางใจให้มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการจัดกากับป่าไม้ พวกเขาจะเลือกใช้แนวปฏิบัติอย่างระมัดระวังถึงผลกระทบต่อป่าไม้ และนั่นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันไฟป่า และรักษาระบบนิเวศน์ของป่าไม้ ภูมิปัญญาและความรู้ดั้งเดิมของชาวบ้านในชุมชน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันไฟป่าและบรรเทาผลกระทบเมื่อเกิดเหตุขึ้น
กรณีศึกษา WALHI กับการจัดการป่าไม้โดยชุมชนในอินโดนีเซีย
การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชนในการจัดการกับป่าไม้นั้นเป็นแนวทางที่เดียวกันกับที่วาลฮี (WALHI: Wahana Lingkungan Hidup Indonesia) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียดำเนินการอยู่ วาลฮีเป็นองค์กรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของอินโดนีเซีย ที่บุกเบิกแนวทาง วิไลยะ เกอโลลา รากยัท (WKR: Wilayah Kelola Rakyat) ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน WKR เป็นกระบวนการจัดการที่ผสมผสานระหว่างการกำกับดูแล การผลิต การจัดจำหน่าย และการบริโภค ของชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่า การจัดการนี้จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
วาลฮียังได้ช่วยเหลือชุมชนดายัค เมราตุส (Dayak Meratus) หนึ่งในชุมชนพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียว ให้ทำเกษตรกรรมแบบหมุนเวียนได้ต่อไป แม้ว่าชุมชนนี้จะคงแนวทางปฏิบัติแบบตัดและเผาทำลาย แต่ ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า ผืนดินที่ถูกแผ้วถางและเผาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่เปราะบาง นอกจากนี้ชุมชนดายัค เมราตุส ยังให้เวลาเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูผืนดินโดยไม่ต้องปลูกอะไรหลังจากผ่านไประยะหนึ่ง ในระหว่างนั้นชุมชนดายัก เมราตุสจะค้นหาพื้นที่อื่นเพื่อเพาะปลูกต่อไป
นอกเหนือจากการปฏิบัตินี้แล้วชุมชนดายัค เมราตุส ยังเรียนรู้การปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชหลากหลายชนิดในแปลงเดียวกัน ซึ่งช่วยเพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งวาลฮี มีเป้าหมายที่จะเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเหล่านี้ให้ทั่วอินโดนีเซีย โดยสร้างจุดแข็ง ของแต่ละพื้นที่และแนวทางปฏิบัติของชุมชน ดังนั้นจึงช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับการเพาะปลูกโดยไม่ต้องใช้ประโยชน์จากป่าไม้
ความสำเร็จของวาลฮีและ WKR ได้ช่วยเหลือชุมชน 161,019 ครัวเรือนใน 28 จังหวัดของอินโดนีเซียให้ได้รับการสนับสนุนในแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และอาจจะมีความเข้มงวดในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการตัดไม้ ทำเหมือง และการเพาะปลูก แต่แนวทาง WKR เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และปกป้องป่าไม้จากการบุกรุกของภาคอุตสาหกรรมอย่างได้ผล และเป็นแนวทางในการจัดการให้กับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะที่เราเฉลิมฉลองวันป่าไม้สากล งานขององค์กรต่างๆ ในการเผชิญกับไฟป่าในประเทศไทย เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและการดูแลป่าไม้โดยชุมชนเช่นเดียวกับโมเดลของWKR ที่เป็นต้นแบบการดำเนินการที่ไม่เพียงแต่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่สำหรับทุกประเทศที่กำลังต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน ด้วยการนำโมเดลเหล่านี้มาปรับใช้ เพิ่มศักยภาพให้ชุมชนท้องถิ่น รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ และกำหนดแนวทางสู่ความยั่งยืน