ผศ.ณัชติพงศ์ อูทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า แผนการรับนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2567 ของ มทร.ธัญบุรี กลุ่มมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านระบบTCAS ขณะนี้ได้ดำเนินการมาถึงรอบ TCAS 2 หรือรอบโควตา โดยมีแผนรับ จำนวน 1,194 คน มีผู้สมัคร 2,312 คน เป็นจำนวนเกือบ 2 เท่าของแผนรับ โดยผ่านการคัดเลือก 1,076 คน คิดเป็น 90% ของแผนการรับ ทั้งนี้คาดดว่าในรอบโควตานี้มหาวิทยาลัยจะได้นักศึกษาครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ เพราะรอบนี้จะมีโควตาของนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายที่แต่ละคณะได้มีการลงนามความร่วมมือร่วมด้วย อย่างไรก็ตามทั้งรอบ TCAS1 และ TCAS2 เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยมีตัวเลขที่นักเรียนผ่านการคัดเลือกและยืนยันสิทธิ์มากกว่า 90% แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความเชื่อมั่นมาตรฐานการศึกษาของมทร.ธัญบุรี และหลักสูตรของมหาวิทยาลัยตอบรับกับความต้องการของผู้เรียน
ผศ.ณัชติพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการรับตรงระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นั้น ปัจจุบันได้ผ่านรอบโควตา และสอบตรงแล้ว โดยรอบโควตา มีแผนรับ 1,354 คน มีผู้สมัคร 2,466 คน ผ่านการคัดเลือก 1,320 คน รอบสอบตรง แผนรับ 1,123 คน ผู้สมัคร 2,307 คน ผ่านการคัดเลือก 777 คน ส่วนรอบสุดท้ายคือรอบรับตรง จำนวนรับ 336 คน อยู่ระหว่างการรับสมัครและขณะนี้มีผู้สมัครแล้ว 603 คน ทั้งนี้เกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาในรอบนี้จะเป็นการสอบข้อเขียนและสอบสมรรถนะ โดย 3 สาขาที่มีผู้สมัครมากที่สุด ได้แก่ สาขาวิศวกรรมไฟฟา สาขาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาบัญชีและวิศวกรรมอุตสาหการ
"สำหรับการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank นั้น มทร.ธัญบุรีได้ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ระดับปริญญาตรี เปิด 83 หลักสูตร ทุกสาขาวิชา ยกเว้นคณะพยาบาลศาสตร์ ระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 33 หลักสูตร โดยผู้เรียนกลุ่มหลัก มี 2 กลุ่ม คือ คนวัยทำงานจากสถานประกอบการ และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีแรกของโครงการ ผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่จะมาสมัครเรียนเพียง ในสาขาละ 2-3 คน แต่ระยะ 2 ปีหลัง จะมีการรวมกลุ่มกันจากสถานประกอบการ หรือนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายของ มทร.ธัญบุรี เข้ามาเรียนมากขึ้น โดยกลุ่มผู้เรียนวัยทำงานจะเลือกเรียนสาขาวิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นหลัก ส่วนนักเรียนจะเลือกเรียนวิชาในคณะแพทย์บูรณาการและคณะศิลปศาสตร์ ทั้งนี้เชื่อว่า การเรียนแบบระบบธนาคารหน่วยกิตในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจะเริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากผู้เรียน เนื่องจากคนวัยทำงาน ต้องการได้รับใบปริญญาโดยใช้ประสบการณ์ในการทำงาน การฝึกอบรม สมรรถนะที่มีอยู่เทียบกับวิชาที่เรียน ส่วนนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับม.ปลายต้องการเรียนในระบบนี้ เพื่อย่นระยะเวลาการเรียนระดับปริญญาตรีให้ลดลง รวมถึงการเรียนการสอนในระบบนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ยังให้การสนับสนุน และผู้ที่เข้าอบรมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพก็สามารถนำมาใช้ในการเทียบโอนหน่วยกิตได้ โดยขณะนี้ มทร.ธัญบุรี กำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเรียนในโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันนี้ถึง 31 พ.ค.67 ในระบบออนไลน์ www.oreg.rmutt.ac.th" ผศ.ณัชติพงศ์ กล่าว