ร่วมอภิปรายเวที "ระดมความเห็นพัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567" เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ฯ ขอความเป็นธรรมให้ รพ. เหตุต้องแบกรับค่าบริการจากอัตราจ่ายของ สปสช. ที่ไม่สะท้อนต้นทุนจริง ชมรม รพศ./รพท. เปิดมติ 7 ข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อหนุนการให้บริการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองของ รพ. ย้ำไม่ปรับอัตราจ่ายค่าบริการกลางปี ขณะที่ชมรม ผอ.รพช. ฝากดูแลต้นทุนบริการผู้ป่วยนอก พร้อมห่วงอนาคตงบเหมาจ่ายผู้ป่วยนอกอาจถูกกระจายลง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น ขณะที่ ชมรม ผอ.รพ.สต. และผู้แทนคลินิกเอกชนใน กทม. เสนอให้ ปชช. มีรายได้ร่วมจ่าย เพื่อสมทบงบประมาณและให้ระบบยั่งยืน ด้าน สปสช. รับทุกความเห็น ข้อเสนอ รวบรวมเสนอต่อ บอร์ด สปสช.
ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ - เมื่อวันที 2 เมษายน 2567 ในเวทีการอภิปราย "ระดมความเห็นพัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน" จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีผู้แทนหน่วยบริการในระบบสาธารณสุขที่ร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ร่วมการอภิปรายนี้ โดยมี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. พร้อมด้วย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร และ ดร.ดวงตา ตันโช กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ร่วมรับฟังการอภิปราย
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า ในระยะ 10 ปี สปสช. ได้ปรับเพิ่มงบประมาณจากปี 2557 จำนวน 1.54 แสนล้านบาท เป็น 2.17 แสนล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งพบว่ายังไม่มีการพูดถึงความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการที่ต้องรับภาระการให้บริการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันทางการแพทย์หรือโรงเรียนแพทย์บางแห่ง ต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองสูงถึง 500-700 ล้านบาท ขณะที่ สปสช. จ่ายเงินตามค่าบริการตามที่กำหนด ดังนั้นหากให้บริการมากโรงเรียนแพทย์ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง ตรงนี้เหมือนระเบิดเวลา ฉะนั้นอยากให้ สปสช. พิจารณาต้นทุนการบริการที่สะท้อนความเป็นจริงในทุก 3 -5 ปี เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ให้บริการ พร้อมเข้ามาสนับสนุนการให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ทั้งการลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยให้หน่วยบริการไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนี้ สปสช. ควรเปิดเผยยอดงบประมาณ หรือกรณีมีเงินเหลือว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อให้หน่วยบริการทราบถึงการบริหารจัดการงบประมาณกรณีมีเงินเหลือ หรือได้รับเงินคืนด้วย
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี และในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า จากมติที่ประชุมชมรม รพศ./รพท. มี 7 ข้อเสนอ ต่อ สปสช. ดังนี้ 1.ให้ สปสช. คำนึงถึงต้นทุนค่าบริการในทุกบริการ 2. สิทธิประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มเติมต้องมีแหล่งเงินงบประมาณชัดเจน 3. ไม่อยากให้ปรับประกาศอัตราจ่ายค่าบริการกลางปี เว้นเป็นการปรับเพิ่ม 4.สัดส่วนกองทุนเฉพาะโรคต้องลดลงให้น้อยกว่าร้อยละ 5 จนกว่างบที่จ่ายจะไม่ต่ำกว่าต้นทุน 5.กรณีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ขอให้ สปสช. ร่วมรับความเสี่ยงกับหน่วยบริการ เพราะปีที่ผ่านมา รพ. หลายแห่งต้องเป็นหนี้รวม 2,600 ล้านบาท จากการให้บริการเกินเป้าหมาย 6. ขอให้ สปสช. ตระหนักว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อบริการสุขภาพให้ประชาชน ไม่ใช่องค์กรที่ซื้อข้อมูลการให้บริการเพื่อจ่ายค่าบริการ และ 7. สปสช. ควรปฏิรูปการบริหารจัดการฯ กระจายอำนาตไปที่ สปสช.เขต ให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่
"ในเรื่องต้นทุนการบริการ จากการศึกษาต้นทุนของ รพ. แต่ละระดับ เมื่อรวมค่าแรงแล้วในระยะ 5 ปี จะเฉลี่ยอยู่ที่ 13,142 บาทต่อ AdjRW แต่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ประกันการจ่ายค่าบริการอยู่ที่ 8,350 บาท ขณะที่กองทุนประกันสังคมจ่ายอยู่ที่ 12,000 บาท ตรงนี้อยากให้ สปสช. พิจารณา และส่วนของการคีย์ข้อมูลขอให้เป็นการส่งผ่านระบบ Financial Data Hub เท่านั้น" ประธานชมรม รพศ./รพท. กล่าว
ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ในฐานะชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า สิ่งที่อยากเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือการบริหารกองทุนต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายสาธารณสุข นอกจากช่องทางการบริหารในระดับเขตแล้ว หากลงในระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี โดยในส่วนของ สธ. มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งกลไกเหล่านี้หากขยายไปทั่วประเทศ ก็จะตอบโจทย์การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ได้ ส่วนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นั้น ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่ถ่ายโอนแล้ว 100% เกิดจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด หน่วยงานสุขภาพ รพ.สต. ในพื้นที่มีหารือร่วมกันและได้ผลสรุปที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้มีประเด็นที่ฝากไว้ คือ อยากให้มีความชันเจนในบริการผู้ป่วยนอก และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ รพ.สต. รวมถึงการจ่าย On top ให้บริการที่ทำให้ดี ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้การขับเคลื่อนโอนถ่าย รพ.สต. ทั่วไประเทศเดินหน้าไปได้
นพ.ศุภโชค ก่อวิวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ในฐานะรองประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กล่าวว่า ในมุมของ รพช. ที่มีภารกิจเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรอง และบริการรักษาเบื้องต้นให้กับประชาชนพื้นที่ระดับอำเภอนั้น ที่ผ่านมาเราพึ่งพางบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เป็นหลัก โดย รพช. ไม่ค่อยมีการรักษาผู้ป่วยใน ดังนั้น จึงอยากให้พิจารณาเรื่องต้นทุนบริการผู้ป่วยนอกผ่านงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เพราะในอนาคตอาจมีการแบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวประชากรไปยัง รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ซึ่งจะผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนของ รพช. ได้
ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย ในฐานะผู้แทนชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า อนาคตอยากให้ สปสช. เข้ามาหนุนเสริมงบประมาณเพื่อให้เกิดการลงทุนทั้งอุปกรณ์ กำลังคน ฯลฯ เนื่องจากงบลงทุนที่ รพ. ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีจำกัด อย่างไรก็ดี ขอเป็นกำลังใจให้ สปสช. เพราะที่ผ่านมาก็เข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างดี แต่อีกด้านก็ต้องหันมามองผู้ให้บริการเพื่อให้พวกเราอยู่ได้ไม่ขาดทุน
ด้าน นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทุกวันนี้ทรัพยากรของ รพ.สต. มีจำกัดและเป็นปัญหามายาวนาน ซึ่ง รพ.สต. มีหน้าที่หลักในการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิ จึงอยากมีการเสนอต่อรัฐบาลให้มีนโยบายร่วมจ่ายจากประชาชนที่มีรายได้ เพี่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากนี้ ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้แทนคลินิกเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า คลินิกเอกชนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ประชาชนที่มีรายได้ร่วมจ่ายค่าบริการ อาจมาในรูปแบบการจัดสรรเงินเข้ากองทุนเฉพาะ หรือจ่ายตรงให้กับหน่วยบริการก็ได้ เชื่อได้ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ได้ ส่วน (ร่าง) ประกาศฯ ในมาตรา 46 ที่ระบุครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ และค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งระบุถึงหน่วยบริการของรัฐบาลอย่างเดียว แต่ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของคลินิกเอกชนที่มาดูแลประชาชน ลดภาระโรงพยาบาลด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราอยากได้เงินเหมือนกัน นอกจากนี้อยากให้ สปสช. จัดการเพื่อให้คลินิกสามารถซื้อได้ในราคาเดียวกับโรงพยาบาล รวมถึงการสร้างเครือข่ายการบริการ ระหว่างโรงพยาบาล คลินิกเอกชน และหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่เป็นนวัตกรรมการบริการรูปแบบใหม่ อย่างเช่น ร้านขายยา ให้เป็นเส้นเลือดฝอยที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้การบริการต่อประชาชนมีความราบรื่น
ทั้งนี้ในช่วงท้าย ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สปสช. จะรวบรวมทุกความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมมการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำและข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่การให้บริการประชาชนที่ดีมีคุณภาพ และกองทุนมีความยั่งยืนต่อไป