นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนว่า สปภ.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์พายุฤดูร้อนในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ให้สามารถเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำนักงานเขต เพื่อกำชับให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมโดยขอให้เร่งตรวจตราอาคาร สถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง รวมถึงไม้ยืนต้นตามที่สาธารณะที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งแจ้งให้หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ เพื่อตรวจสอบซ่อมแซมตามอำนาจหน้าที่ หากมีเหตุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ อันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ขอให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายและออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ประสานและแนะนำเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากอิทธิพลพายุฤดูร้อน หากเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้องควบคุมป้ายให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้ป้าย ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 ซึ่งได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548
ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมพร้อมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งรัดการรื้อถอน นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย นอกจากนั้น สนย.ยังได้เตรียมพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเข้าช่วยเหลือและเคลื่อนย้าย กรณีเกิดเหตุป้ายโฆษณาโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชกแรง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า สสล.ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบจากพายุฤดูร้อนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่สีเขียวของ กทม. และรับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะ โดยให้สำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งดูแลต้นไม้บริเวณทางเท้าทั้งถนนสายหลัก สายรอง สวนหย่อม สวน 15 นาที และหน่วยงานในสังกัด สสล. ที่รับผิดชอบดูแลสวนสาธารณะและต้นไม้บนถนนสายสำคัญ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราพื้นที่ในความรับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้บนถนน ทางเท้า และที่สาธารณะ หากพบต้นไม้ที่ความเสี่ยงต่อการหักโค่น ให้ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งผุ ตรวจสอบลำต้น หาร่องรอยการเข้าทำลายของแมลง ตัดแต่งต้นไม้ตามหลักวิชาการและรุกขกรรม ทั้งนี้ หากตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ตามแผนประจำปีอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ให้เร่งสำรวจประเมินความเสี่ยงของต้นไม้เพิ่มเติม โดยตัดแต่งกิ่งต้นที่ทรงพุ่มหนาทึบต้านลม เพื่อแก้ไขทรงพุ่มต้นไม้ใหญ่ โดยการตัดแต่ง หรือสางโปร่งให้ลมพัดผ่านได้ เพื่อลดการฉีกหัก โค่นล้ม
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมพร้อมหน่วยเร่งด่วน 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนนสายสำคัญในความรับผิดชอบ พร้อมประสานแจ้งสำนักงานเขต 50 เขต เตรียมความพร้อมจัดหน่วยเร่งด่วน เตรียมเครื่องมือ ยานพาหนะและเจ้าหน้าที่ เพื่อออกปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนน หรือหักโค่นทับบ้านเรือนประชาชนได้ทันที เพื่อเร่งเปิดการจราจรให้ประชาชนสัญจรผ่าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนเร็วที่สุด รวมทั้งซักซ้อมแผนการช่วยเหลือฉุกเฉินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติการ เช่น สถานีตำรวจพื้นที่ สถานีดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ หากเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นจากพายุลมแรงกีดขวางถนนในที่สาธารณะ ถนน หรือในย่านชุมชน
ทั้งนี้ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้ กิ่งไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะหัก โค่นล้ม สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ โดยหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้านสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม.กำหนด