จี้รัฐแก้ปัญหา สร้างเสถียรภาพอุตสาหกรรมหมู ยกระดับมาตรฐานการผลิต เจาะตลาดต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 9, 2008 13:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
“สถาบันอาหาร” แนะรัฐแก้ปัญหาอุตสาหกรรมหมูในระดับนโยบาย จับมือผู้ประกอบการขยายตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูในต่างประเทศ เร่งขจัดอุปสรรคต่างๆ อาทิ โรคระบาด การใช้สารต้องห้าม เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า เรียกความเชื่อมั่นด้านคุณภาพสินค้าให้กับประเทศนำเข้าสินค้าหมูสำคัญ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมหมูของไทยในระยะยาว
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า หมูเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวนเกษตรกรหรือผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทยในปี 2550 มีจำนวน 280,061 ครัวเรือน แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ ผู้เลี้ยงรายย่อย ผู้เลี้ยงแบบฟาร์ม และผู้เลี้ยงที่ทำเป็นธุรกิจแบบครบวงจร ปริมาณหมูของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีประมาณ 9.0 - 12.0 ล้านตัว ผันแปรตามราคาและความต้องการของตลาดในแต่ละปี โดยหมูที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ ซึ่งความต้องการบริโภคเนื้อหมูภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดของไข้หวัดนกทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อหมูแทน ล่าสุด อัตราการบริโภคเนื้อหมูของคนไทยอยู่ที่ 13.77 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 12.00 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2540 มีเพียงส่วนน้อยที่ส่งออกไปต่างประเทศประมาณร้อยละ 1.0 — 2.0 ของผลผลิตหมูทั้งหมด ตลาดส่งออกส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในเอเชีย ที่สำคัญคือ ฮ่องกง ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของเนื้อหมูแช่เย็น แช่แข็ง และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับเนื้อหมูแปรรูป ส่วนการส่งออกหมูมีชีวิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า
สำหรับตลาดส่งออกเนื้อหมูนั้น ในอดีตที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะพยายามกระตุ้นการส่งออกเนื้อหมูแช่เย็น แช่แข็ง และเนื้อหมูแปรรูปแต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากไทยยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาด โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย รวมทั้งปัญหาการใช้สารต้องห้ามบางชนิดในการเลี้ยงหมูทำให้ที่ผ่านมาการขยายตลาดหมูไปยังตลาดต่างประเทศเป็นไปได้ค่อนข้างยาก มูลค่าส่งออกเนื้อหมูแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปแต่ละปีมีไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา การขยายตัวของการส่งออกเนื้อหมูแปรรูปไปยังญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคในญี่ปุ่นให้การยอมรับในคุณภาพสินค้าหมูแปรรูปของไทย ประกอบกับจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกหมูรายใหญ่ประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดในหมู ทำให้หมูเสียชีวิตระหว่างการเลี้ยงสูง ส่งผลให้ผลผลิตหมูของจีนมีปริมาณลดลงและราคาแพงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อไทย ทำให้ฮ่องกงและญี่ปุ่นหันมานำเข้าเนื้อหมูจากไทยเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายช่องทางการตลาด
“ปี 2550 ไทยส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ไปยังตลาดญี่ปุ่นและฮ่องกงมากถึง 8,300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,250 ล้านบาท ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 นั้นมีปริมาณ 1,700 ตัน และมูลค่า 220 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี 2550 ไทยยังส่งออกหมูมีชีวิตไปยังประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามรวมกันอีกประมาณ 60,000 ตัว คิดเป็นมูลค่า 41.0 ล้านบาท” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว
ในขณะที่ปัญหาเนื้อหมูขาดตลาดและมีราคาแพงที่ผู้บริโภคไทยประสบเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ผู้เลี้ยงพยายามปรับราคาหน้าฟาร์มให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และปลายข้าว ปัญหาโรคโรคระบาดในหมู ได้รับความเสียหายจากโรคท้องร่วง (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) ในลูกหมูกันมาก มีการประเมินกันในวงการหมูว่าการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ลูกหมูเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 800,000 ตัว แม้โรคนี้จะไม่แพร่ระบาดในหมูที่โตแล้ว แต่ก็ส่งผลให้ปริมาณลูกหมูขุนเข้าสู่ตลาดลดลงและมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก ยิ่งซ้ำเติมต้นทุนการผลิตให้ปรับตัวสูงขึ้นไปอีกเพราะค่าพันธุ์หมูมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิตหมู
ในอดีตความพยายามในการขยายตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูของไทยไปยังต่างประเทศค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศผู้บริโภคและนำเข้าสินค้าหมูที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ยังขาดความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของสินค้า เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในโซนที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ประกอบกับไทยยังมีปัญหาเรื่องการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตในฟาร์มผู้เลี้ยง คุณภาพของเนื้อหมูยังไม่ได้มาตรฐานอันเป็นผลสืบเนื่องจากการฆ่าชำแหละ การบรรจุหีบห่อ และการขาดห้องเย็นที่ได้มาตรฐานในการเก็บรักษาเนื้อหมู นอกจากนี้สายการผลิตหมูของผู้เลี้ยงรายย่อยยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานสุขอนามัย แม้ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะแข่งขันกับประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหมูโลก เช่น จีน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก แต่หากผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับของอุตสาหกรรมร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานการผลิตใหได้มาตรฐานตั้งแต่ระดับฟาร์มเลี้ยงหมูไปจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โอกาสที่ไทยจะขยายตลาดส่งออกก็มีความเป็นไปได้สูง
ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาบางด้านของอุตสาหกรรมหมูไทยอาจต้องได้รับการแก้ไขในระดับนโยบายจากภาครัฐ เช่น เรื่องราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับสูตรการคำนวณราคาหมูเนื้อแดงใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริงและราคาตลาด หรือแม้แต่การจัดระบบมาตรฐานโรงเชือดหมูให้ได้มาตรฐานในระดับสากล แต่ในบางด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสามารถปรับเปลี่ยนวิกฤตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เป็นโอกาสได้ โดยเฉพาะด้านการตลาดที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าด้วยการหาทางแปรรูปเนื้อหมูเป็นผลิตภัณฑ์จากหมูในรูปแบบใหม่ๆ การศึกษาแนวโน้มตลาด รสนิยมของผู้บริโภค และกระแสการบริโภคในตลาด ส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และฮ่องกง เนื่องจากตลาดเหล่านี้เป็นตลาดที่ผู้บริโภคให้ความนิยมในการบริโภคเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูแปรรูป ประกอบกับตลาดเหล่านี้ยังอยู่ไม่ไกล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการได้ อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายร่วมมือกันความหวังในการสร้างเสถียรภาพให้แกอุตสาหกรรมหมูไทยคาดว่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ