ไตรภาคีจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานเดิม พร้อมขยายเวลาให้แรงงานอิสระกู้เงินทำงานที่บ้าน ผลักดันอนุสัญญา87 และ 98 ที่ค้างคามากว่า 30 ปี ให้สำเร็จในยุคนี้ และอนุสัญญา 144-155 ทำเสร็จทันก่อนไปประชุม ILO มิ.ย.
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงาน กล่าวถึงของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน ในวันแรงงาน 1 พ.ค.2567 นี้ว่า จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์แน่นอน โดยของขวัญชิ้นสำคัญคือ จะมีรายละเอียดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานที่วางเอาไว้
นายพิพัฒน์ ได้กล่าวอีกว่า ในส่วนของขวัญชิ้นต่อมา คือ ขยายเวลา วงเงินกู้สำหรับแรงงานอิสระทำงานจากที่บ้าน ที่ขณะนี้มีผู้กู้ไปแล้วกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 เมษายนนี้ จึงได้หารือกับอธิบดีกรมการจัดหางาน ว่าหากวันที่ 30 เมษายน วงเงินยังใช้ไม่หมด ขอให้ขยายเวลาออกไปให้วงเงินกู้สามารถใช้ได้จนหมด เพราะเป็นประโยชน์ ซึ่งใน 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3 คิดดอกเบี้ย 2%
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ของชวัญชิ้นต่อมาคือ การผลักดันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949 ผ่านขั้นตอนที่ 1 จากทั้งหมด 7 ขั้นตอน อยู่ในช่วงกลั่นกรองข้อกฎหมายโดยคณะกรรมการไตรภาคี โดยตั้งเป้าในช่วงมิถุนายน - กันยายน จะนำเข้าครม.และเข้าสู่กฤษฎีกา หลังจากนั้นจะนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ด้วยเงื่อนไขของกระบวนการทางกฎหมาย
รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานได้ช่วยกันผลักดัน โดยหลักใหญ่ฝ่ายนายจ้างก็จะไม่ค่อยเห็นด้วยในฉบับที่ 87 ถ้าฉบับที่ 98 ฝ่ายนายจ้างค่อนข้างจะเห็นด้วย แต่ฝ่ายข้าราชการมีทั้งเห็นด้วย งดออกเสียง ทั้งสองฉบับ เพราะฉะนั้นต้องดูว่าสุดท้ายแล้วทางลูกจ้าง นายจ้าง และข้าราชการจะเลือกให้ผ่านทั้งสองฉบับ หรือฉบับเดียว ทั้งนี้กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นที่จะประกาศใช้ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งผู้ใช้แรงงานสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันให้กฎหมายเกิดขึ้นจริง โดยทำความเข้าใจข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 ฉบับ
"ผมดีใจที่เราสามารถผ่านมติขั้นที่ 1 ทั้งฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ไม่เคยผ่านขั้นตอนแรก เพราะฉะนั้นตัวผมเองพยายามจะให้ผ่านทุกขั้นตอนภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการไตรภาคี ว่าเห็นด้วยทั้งสองฉบับ หรือเห็นด้วยฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับตัวผมเห็นด้วยทั้ง 2 ฉบับ" นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ของขวัญชิ้นต่อมาก็คือ การผลักดันอนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976 และอนุสัญญาฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ.1981 ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะไปประชุม ILO ในวันที่ 11 -15 มิถุนายน ที่กรุงเจนีวา โดยมั่นใจว่า อนุสัญญาฉบับที่ 144 จะเสร็จทัน แต่ฉบับที่ 155 จะพยายามทำให้ทัน ตั้งเป้าจะประกาศรับรองอย่างเป็นทางการในที่ประชุมที่กรุงเจนีวา
นอกจากนี้แต่ละหน่วยงานจะนำเสนอของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงาน เพิ่มเติมอีกด้วย