สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายของ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการ สดช. ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากผ่านการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และสารสนเทศที่มีความหลากหลาย ทั้งที่สร้างสรรค์ และที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อ หรือข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น สดช. จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) ของประชาชน ซึ่งเป็นดัชนีที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มีการประเมินวัดผลมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ผลคะแนนประเมินเฉลี่ยนของสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) มีผลคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 74.4 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 68.6 ขณะที่ผลคะแนนประเมินเฉลี่ยสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy : MIL) มีผลคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 72.1 ซึ่งถือเป็นผลการประเมินที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สดช. มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนสมรรถนะด้านดิจิทัลของประชาชนไทยให้ก้าวขึ้นสู่คะแนนประเมินเฉลี่ยที่ระดับ 85 ภายในปี 2570 จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมยกระดับสมรรถนะประชากรเพื่อให้พร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย เพื่อยกระดับสมรรถนะประชากรด้านการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL)
นางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สดช. เปิดเผยว่า สดช. ได้จัดประชุมทบทวนและคัดเลือกหลักสูตรให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อใช้ในการฝึกอบรมการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) โดยมีคณาจารย์ จากสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน ร่วมกันพิจารณา ทบทวน ให้ความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอแนะปรับปรุงหลักสูตรให้หมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องตามบริบทของสังคม เพื่อใช้ฝึกอบรมในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดฝึกอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัลไปแล้วทั่วประเทศ จำนวน 10,858 คน และในปี 2567 นี้ สดช. จะดำเนินการจัดฝึกอบรมการยกระดับสมรรถนะการเข้าใจดิจิทัล สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไปให้พร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล จำนวน 10,000 คน แบ่งเป็นการอบรมแบบออนไลน์ 8,000 คน และออนไซต์ 2,000 คน ซึ่งจะเริ่มจัดฝึกอบรมในระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน 2567 นี้
สำหรับหลักสูตรที่ สดช. ใช้ในการอบรมหลักสูตรความรู้ความเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) แบ่งเป็น 1. หน่วยการเรียนหลัก แบ่งออกเป็น 9 โมดูล ประกอบด้วย สิทธิและความรับผิดชอบยุคดิจิทัล การเข้าถึงดิจิทัล การสื่อสารยุคดิจิทัล ความปลอดภัยยุคดิจิทัล การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ มารยาทในสังคมดิจิทัลและแนวปฏิบัติในสังคมดิจิทัล สุขภาพดียุคดิจิทัล ดิจิทัลคอมเมิร์ซ และกฎหมายดิจิทัล และ 2. หน่วยการเรียนเฉพาะกลุ่ม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม โดยจะใช้อบรมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึง หน่วยการเรียนรู้เฉพาะกลุ่มที่ได้มีการจำแนกตามเป้าหมายผู้เรียนรู้ใน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้หญิงและประชาชนทั่วไป จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตสตรีและสถาบันครอบครัว กลุ่มเด็กและเยาวชน และพ่อแม่ผู้ปกครอง จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และการคิดเชิงคำนวณ เพื่อความเป็นเลิศด้านการศึกษา และการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับบุตรหลาน กลุ่มผู้สูงอายุ จะเรียนรู้การปรับเปลี่ยนทักษะในยุคดิจิทัลสู่ความสูงวัยแบบมีคุณภาพ กลุ่มคนพิการ เรียนรู้การเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จะเรียนรู้การเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของภาครัฐและการสร้างโอกาสด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
สดช. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขับเคลื่อนหลักสูตรความรู้ความเข้าใจดิจิทัล สำหรับทุกกลุ่มเป้าหมายครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ สดช. ที่จะขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลได้อย่างแท้จริง