ผศ.พท.ป.แสงนภา ทองสา หัวหน้าสาขาวิชาการแพทย์บูรณาการ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า ประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูร้อน ที่อากาศมีความร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก ซึ่งอากาศร้อนที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระตุ้นความร้อนภายในร่างกายของคน ทำให้ปิตตะ หรือธาตุไฟกำเริบ โดยทางการแพทย์แผนไทยจะใช้สมุนไพรหรือผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เย็น มีรสชาติขม เย็นและจืดช่วยลดความร้อนในร่างกายได้
สำหรับผลไม้ที่มีรสเย็น เช่น มันแกว พุทรา แอปเปิ้ล แตงโม เป็นต้น ส่วนพืชผัก เช่น ผักบุ้ง ผักตำลึง กะเฉด สายบัว ส่วนผักที่มีรสขม ได้แก่ สะเดา มะระ มะเขือยาว กุยช่าย ดังนั้น การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อควรมีพืชผักเหล่านี้รวมด้วย เพื่อทำให้ร่างกายมีความเย็นเพิ่มขึ้น ส่วนสมุนไพรรสขม เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ฤทธิ์เย็น เช่น น้ำใบย่านาง น้ำบัวบก ล้วนมีสารสำคัญช่วยลดความร้อนเช่นกัน หากทานเป็นอาหารตามปกติ จะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่หากทานเป็นผงสมุนไพรหรือรูปแบบสารสกัด จะต้องระมัดระวังในการใช้ ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5-7 วัน เพราะจะทำให้ร่างกายเย็นเกิน เกิดอาการชาตามมือ เท้า
ทั้งนี้ในช่วงหน้าร้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เพราะจะกระตุ้นธาตุไฟในร่างกาย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา พริกไทย จะส่งให้เกิดความร้อนในร่างกายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการต้มน้ำสมุนไพรดื่ม เพื่อดับความร้อน แนะนำให้ใช้สมุนไพรที่มีรสจืด เช่น น้ำใบเตย ใบย่านาง สามารถดื่มแทนน้ำได้ แต่ไม่ควรใส่น้ำตาล ส่วนใบบัวบกไม่แนะนำให้ดื่มแทนน้ำ เพราะมีรสขมและมีสรรพคุณทางยา ควรดื่มวันละ 1-2 แก้วเท่านั้น