สมาคมประกันวินาศภัยไทย Kickoff การใช้ข้อมูล Non-Life IBS พร้อมส่งมอบรายงานข้อมูลสถิติในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของประเทศ

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 7, 2024 17:17 —ThaiPR.net

สมาคมประกันวินาศภัยไทย Kickoff การใช้ข้อมูล Non-Life IBS พร้อมส่งมอบรายงานข้อมูลสถิติในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของประเทศ

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจทุกประเภท การรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงจะไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหากปราศจากข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณภาพที่จะสามารถนำมาใช้สนับสนุน การพัฒนาและวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำและตรงจุด

ธุรกิจประกันวินาศภัย เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงต่อการปกป้องดูแลระบบเศรษฐกิจ สังคมและประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้สภาวะความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเช่นเดียวกัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อการพัฒนาการแก้ไขปัญหาและความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถในการรับประกันภัย และการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย หรือ Non-Life Insurance Bureau System (Non-Life IBS) อย่างจริงจัง ด้วยเป้าหมายที่จะให้มีฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย และด้วยความร่วมมือของบริษัทประกันภัยในการรายงานข้อมูลเข้าสู่ระบบ รวมถึงการจัดทำให้ข้อมูลมีความครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ จนเกิดผลสำเร็จขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการจัดทำระบบรายงานเรียบร้อยแล้ว ทำให้ปัจจุบันเรามีความพร้อมในการส่งมอบรายงานข้อมูลสถิติประกันภัย อันจะทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่อภาคธุรกิจประกันภัยและการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งระบบฐานข้อมูลนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบการประกันวินาศภัยของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในอนาคต 

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ สำนักงาน คปภ. ได้จัดงานสัมมนา "สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย Big Data สำหรับอุตสาหกรรมประกันภัย" เพื่อชี้แจงช่องทางในการเข้าใช้งานระบบรายงาน อีกทั้งจะได้รับทราบถึงเทคโนโลยีและแผนสำหรับการสร้างคุณประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายจากฐานข้อมูลกลางประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลการประกันภัยจากระบบ Insurance Bureau System (IBS) อาทิ

  • การรวบรวมและจัดการข้อมูล จะช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ข้อมูลด้านการรับประกันภัย และความเสี่ยงภัยต่างๆ ทำให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การประเมินความเสี่ยง จะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถประเมินความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บริษัทประกันภัยสามารถกำหนดเบี้ยประกันภัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างเหมาะสม
  • การป้องกันการฉ้อฉล เป็นการคาดหวังของธุรกิจประกันภัยว่าเมื่อมีการพัฒนาระบบโดยสมบูรณ์ ระบบนี้จะช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถตรวจสอบและตรวจจับการฉ้อฉลได้ โดยการวิเคราะห์รูปแบบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ผิดปกติหรือมีความเสี่ยงสูง ทำให้สามารถป้องกันความสูญเสียจากการฉ้อฉลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ด้วยประโยชน์เหล่านี้ การใช้ข้อมูลการประกันภัยจากระบบ Insurance Bureau System (IBS) จึงมีความสำคัญสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในการดำเนินงานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและคู่ค้าในการนำไปใช้เพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงภัย ต้นทุนด้านการประกันภัย ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดการให้บริการสังคมและประชาชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการนำข้อมูลไปผนวกเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจรถยนต์ ข้อมูลระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบการรักษาพยาบาล และข้อมูลระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวเนื่องกับมหันตภัยทางธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาให้ระบบการประกันวินาศภัยมีความยืดหยุ่น แข็งแกร่งอย่างเพียงพอในการรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม สถิติข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการใช้ข้อมูลในระบบ IBS ซึ่งสมาคมฯ ขอขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการนำข้อมูลในระบบ Non-Life Insurance Bureau System (IBS) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาระบบการประกันวินาศภัยให้เป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจไทยตลอดไป 


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ