ทารกและเด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด
แม้ฝนที่เริ่มตกลงมาในช่วงไม่กี่วันนี้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยจะช่วยบรรเทาความร้อนที่เกิดขึ้น แต่ฤดูร้อนที่ร้อนจัดได้สร้างความท้าทายให้กับเด็ก ๆ ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายพื้นที่เผชิญอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่จำกัด การต้องพึ่งพาวิธีคลายร้อนที่มากขึ้น ไปจนถึงการเรียนที่ต้องหยุดชะงักลง
คลื่นความร้อนถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับเด็ก ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งต้องต่อสู้กับความร้อนมากกว่า เพราะร่างกายของเด็กปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ การเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากที่สุด นอกจากนี้ คลื่นความร้อนและวิกฤตสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการพื้นฐานของเด็ก ๆ เช่น บริการทางสุขภาพ การศึกษา หรือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด
รายงานล่าสุดของยูนิเซฟย้ำถึงความรุนแรงของสถานการณ์เหล่านี้ โดยเผยให้เห็นว่าเด็กหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่งและการเกิดคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะแย่ลงเรื่อย ๆ ในอนาคต
รายงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของยูนิเซฟ The Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ในปี 2565 ระบุว่า เด็ก 559 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.02 พันล้านคนภายในปี 2593
รายงานยังระบุด้วยว่าการเกิดคลื่นความร้อนในประเทศไทยก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยในปี 2563 เพียงปีเดียว มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่าร้อยละ 75 หรือประมาณ 10.3 ล้านคนในประเทศไทยต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 เด็กทุกคนในประเทศไทยจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นหากไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาใด ๆ
การศึกษาเรื่องการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและยูนิเซฟในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าเด็ก ๆ ในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม และภัยแล้ง โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส มีความเสี่ยงสูงสุด
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยต่างชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและครอบครัวจะกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดจากวิกฤตดังกล่าว
แม้เด็กจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากคลื่นความร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ แต่การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด้านนี้มักมองข้ามความต้องการของเด็ก ๆ เสียงของเด็กมักไม่ถูกรับฟังและพวกเขาก็มักไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง เด็กมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเปราะบางมากกว่าจะเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในการร่วมแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลง
การศึกษา Falling short: addressing the climate finance gap for children ซึ่งจัดทำโดยสมาชิกเครือข่าย Children's Environmental Rights Initiative (CERI) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล, มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก และยูนิเซฟ ในปี 2566 ระบุว่า จากเงินทุนทั่วโลกด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแค่เพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก
ขวัญจิรา ใจกล้า อายุ 18 ปีจากจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ กล่าวว่า "อากาศที่ร้อนจัดตลอดหลายอาทิตย์ที่ผ่านมาทำให้เราใช้ชีวิตลำบากขึ้น การใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งไม่ได้เลย พวกเรารู้ว่าภาครัฐและเอกชนกำลังพยายามดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เราก็อยากเห็นการลงมือแก้ปัญหาที่เร่งด่วนและจริงจัง และเราก็อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็ก ๆ อย่างเราต้องเผชิญทุกวันเหมือนกัน"
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "เราทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด ซึ่งรัฐบาล ชุมชน และทุกคนในสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้โลกของเราเป็นที่ ๆ สามารถอยู่อาศัยได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและบริการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในกระบวนการออกแบบและตัดสินใจ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่เด็ก ๆ จะสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง"
คิมกล่าวเสริมว่า คลื่นความร้อนเป็นเพียงแค่หนึ่งในปัญหาของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ ด้วยความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ต้องปกป้องโลกไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ