"งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3" พืชหลังนาสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่า 3,000 บาท/ไร่

ข่าวทั่วไป Monday May 13, 2024 15:05 —ThaiPR.net

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานวิจัยงาทั้งด้านเทคโนโลยีการปลูก การผลิตงา และการแปรรูป มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกงาในสภาพไร่และรา ทั้งในระบบอินทรีย์ เกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปงาเพิ่มเพื่อมูลค่าให้แก่งา พร้อมที่จะถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่สนใจ โดยเฉพาะ"งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3" ซึ่งลักษณะเด่นให้ผลผลิตเฉลี่ย 135 กิโลกรัม/ไร่ เมล็ดโต มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง 12,813 มิลลิกรัม /กิโลกรัม แคลเซียมสูง 0.73% และมีอายุเก็บเกี่ยว 80 - 85 วัน

ที่ผ่านมาเกษตรกรมีความพึงพอใจกับผลผลิต "งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3" สามารถปลูกเป็นพืชหลังนา ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง มีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 รวมทั้งผู้ประกอบการมีความพึงพอใจกับผลผลิตงาอินทรีย์ แต่ยังมีปัญหาปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การเพิ่มพื้นที่ของการปลูกงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 จึงมีความจำเป็น ซึ่งเกษตรกรรายใหม่มีความสนใจและอยากเรียนรู้การปลูกงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 แต่มีข้อจำกัดคือ เกษตรกรในพื้นที่ใหม่ยังไม่มีความคุ้นชินกับการปลูกงาตามหลักวิชาการ

นางศิริรัตน์ กริชจนรัช นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการ 3 โครงการเพื่อนำงานวิจัยงาไปใช้ประโยชน์ถ่ายทอดสู่เกษตรกร คือ

1. โครงการเทคโนโลยีการปลูกงาในนาข้าว จากวิสาหกิจชุมชนสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพโครงการนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชน ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปลูกงาอินทรีย์หลังการทำนาปี โดยจัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านแปลงต้นแบบ มีการติดตามแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล จำนวน 25 แปลง มีเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกงาจนเก็บเกี่ยวผลผลิต 18 ราย พื้นที่ 20 ไร่ ผลผลิตรวม 441 กิโลกรัม และจำหน่ายให้แก่บริษัทในราคากิโลกรัมละ 100 บาท

2. โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์งาอินทรีย์และงา GAP ในสภาพนา เพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีมีแนวคิดที่จะสร้างเกษตรกรต้นแบบในการผลิตเมล็ดพันธุ์งาคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรผลิตใช้เองหรือจำหน่ายในชุมชน ช่วยลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ และเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ผลการดำเนินงานได้สร้างชุมชนต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 ได้ 3 ชุมชน ได้เกษตรกรต้นแบบเพื่อถ่ายทอดหรือให้คำแนะนำการผลิตเมล็ดพันธุ์งา จำนวน 10 ราย แปลงต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์ จำนวน 20 แปลง พื้นที่ 35 ไร่ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์งารวม 1,498 กิโลกรัม ผลตอบแทนในการผลิตเมล็ดพันธุ์งา GAP ของแปลงต้นแบบ 4,538 บาท/ไร่ งาอินทรีย์ 5,470 บาท/ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 บาท/ไร่

3. โครงการการพัฒนาศักยภาพผู้นำเกษตรกรและกลุ่มเกษตรในชุมชนต้นแบบการผลิตงา ขับเคลื่อนระบบการผลิตและการแปรรูป เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน จากการดำเนินงานได้สร้างชุมชนต้นแบบการผลิตงา 3 ชุมชน เกษตรกรต้นแบบ 10 ราย เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกงาและการแปรรูปงา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สามารถผลิตได้ในระดับชุมชน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ สบู่งาและน้ำมันนวดน้ำมันงา ซึ่งกลุ่มเกษตรกรได้ปรับสูตรและติดฉลากภายใต้ชื่อกลุ่มเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีแนะนำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปงาได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของตัวสินค้า ซึ่งขณะนี้กลุ่มวิสาหกิจกำลังดำเนินการขอรับรอง

"เกษตรกรภายใต้โครงการที่นำ"งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3" มาใช้ประโยชน์ ได้มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งภายในชุมชน ทำให้ได้เกษตรกรต้นแบบที่มีความกระตือรือร้นผลิตงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 อินทรีย์ครบวงจร ทั้งการผลิตวัตถุดิบและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์งา ทำให้มีความต้องการปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ปลูกงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 โดยใช้อัตราเมล็ด 0.5-1 กิโลกรัม/ไร่ เตรียมดินปลูกให้มีความร่วนซุย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ ควรให้น้ำทุกสัปดาห์ จากนั้นให้น้ำเมื่อดินแห้ง และควรถอนแยกให้ต้นงามีระยะห่างที่เหมาะสมไม่ชิดกันจนเกินไป หมั่นตรวจสอบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ใบงา ซึ่งสามารถป้องกันกำจัดด้วยการใช้น้ำหมักสมุนไพร สามารถเก็บเกี่ยวงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 ได้เมื่ออายุ 95-100 วัน หรือฝักคู่ที่ 3 นับจากยอดเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีดำ สำหรับผู้ที่สนใจงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-210397" นางศิริรัตน์ กล่าว

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ