นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มอบหมายให้ นายสักรินทร์ อินทรสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่ร่วมกับ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี ณ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรี หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ นายอำเภอบ้านลาด กล่าวรายงาน หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ร่วมลงพื้นที่ นายสักรินทร์ อินทรสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่ของ อบต.ท่าเสน ยังไม่ได้มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง จำนวน 2 บริเวณ ได้แก่
บริเวณที่ 1 อยู่ใต้สายไฟฟ้าแรงสูง ความยาว 85 เมตร และ บริเวณที่ 2 ตั้งแต่จุดสิ้นสุดเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรี หมู่ที่ 2 ระยะที่ 2 จนถึง สุดเขตรอยต่อ อบต.ท่าเสน กับ อบต.ถ้ำรงค์ ความยาว 107 เมตร ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ทำให้ช่วงฤดูน้ำหลาก อบต.ท่าเสน ต้องทำคันดินชั่วคราวในการป้องกันน้ำท่วม จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ กรมฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรี หมูที่ 1 ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุม 2 บริเวณดังกล่าว โดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของดินบริเวณริมตลิ่ง ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และถนนสาธารณะริมแม่น้ำ
ปัจจุบันโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรี หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จทุกพื้นที่ โดยประกอบด้วย ระยะที่ 1 ความยาว 324 เมตร ระยะที่ 2 ความยาว 372 เมตร และบริเวณบ้านไร่หมัน 160 เมตร รูปแบบของเขื่อนเป็นเขื่อนชนิดตอกเสาเข็ม สันเขื่อนเป็นพื้นทางเท้า ราวกันตก บ่อพักพร้อมท่อระบายน้ำ คันหิน ค.ส.ล. และคันดินถมตลอดด้านหลังแนวเขื่อน ฐานเขื่อนทิ้งหินใหญ่ตามแนวลาดเอียง 1:1:5 และงานก่อสร้างบันได ค.ส.ล. สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของ อบต.ท่าเสน 8.15 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ 5,092 ไร่) ประชาชนได้รับประโยชน์ 942 ครัวเรือน สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม