รู้หรือไม่ว่า จริงๆแล้วออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นกลุ่มของอาการที่เกิดขึ้นจากการนั่งหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานานๆ นั่นเอง ส่วนมากแล้ว หมอจะพบคนไข้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรมจากการนั่งทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ tablet หรือโทรศัพท์มือถือ
สาเหตุของอาการ
การที่ร่างกายของเรา อยู่ในท่าเดิมนานๆ จากการทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ทำกิจกรรมเหล่านั้น กล้ามเนื้อจะเกิดการอักเสบซ้ำๆที่ตำแหน่งเดิม โดยเฉพาะถ้าหากว่าร่างกายนั่งอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมแล้วนั้นอาการของ ออฟฟิศซินโดมจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติเป็นอย่างมาก
ตำแหน่งที่พบว่าเกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้บ่อยที่สุดเรียงลำดับคือ
คอ ไหล่ สะบัก และหลังส่วนล่าง โดยอาการที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องปวดหรือชา บริเวณคอบ่าไหล่, สะบัก, แขน, มือหรือหลัง
โรคหรือการวินิจฉัยที่อยู่ในกลุ่มออฟฟิศซินโดรม มีดังต่อไปนี้ครับ
- Myofascial pain syndrome กลุ่มอาการปวดและตึงตัวของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
- Carpal tunnel syndrome เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงที่มือ
- Trigger finger หรือโรคนิ้วล็อค
- Tendinitis กลุ่มอาการเอ็นอักเสบต่างๆ
- Mechanical back pain กลุ่มอาการปวดหลังที่เกิดจากโครงสร้างต่างๆ ของกระดูกหลัง
- Other: dyspepsia, insomnia กลุ่มโรคอื่นๆเช่นกระเพาะอาหารอักเสบหรือนอนไม่หลับ
จากรายงานการวิจัยพบว่าการทำงานที่บ้านหรือ work from home ก่อให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดมได้มากกว่าการไปทำงานที่สำนักงาน เนื่องจากว่าการไปทำงานที่สำนักงานร่างกายจะได้เดินหรือขยับมากกว่านั่นเอง ส่งผลให้ในปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีอาการของออฟฟิศซินโดมมากขึ้น
เนื่องจากอาการปวดและชานั้น นั้นสามารถที่จะเกิดเป็นโรคอื่นได้ด้วย เช่นหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ การได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญที่จะกำหนดแผนการรักษาที่ถูกต้องเช่นเดียวกันครับ
บทความโดย นายแพทย์เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์เฉพาะทาง คลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลโทร 02-836-9999 กด 4