มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานทำ MOU ทางวิชาการด้านการพัฒนาสมรรถนะภาษาอังกฤษ เพื่อการยกระดับชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษในสายอาชีพให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เทียนบูชา รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ มจษ. กล่าวว่า โครงการยกระดับภาษาอังกฤษ เป็นโครงการร่วมกันของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพให้กับท้องถิ่น ในด้านของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันและมีการใช้ภาษาได้อย่างต่อเนื่อง โดยทำความร่วมมือในการนำบุคลากรสายอาชีพที่มีความต้องการใช้ภาษาอังกฤษ เข้ามาร่วมอบรมผ่านหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัย
"ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้แนะนำอาชีพที่มีความต้องการในการใช้ทักษะด้านภาษาอังกฤษคืออาชีพแคดดี้ และนวดแผนไทย ซึ่ง 2 อาชีพนี้ต้องรองรับชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการพัฒนาภาษาเฉพาะอาชีพ" รองอธิการบดีฯ กล่าว
รองอธิการบดีฯ กล่าวต่อว่า บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยภายในโครงการ คือการผลิตและพัฒนาหลักสูตรทางด้านภาษาอังกฤษ โดยมีอาจารย์จากสาขาวิชาภาษาอังกฤษและผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในอาชีพเฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร และมีแนวทางในการสร้างแอพพลิเคชันการสอนภาษาให้กับผู้เข้าร่วมอบรม รวมไปถึงการอบรมให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาเป็นผู้ช่วยวิทยากร ช่วยเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาอีกทาง
"หลักสูตรการยกระดับภาษาอังกฤษให้กับอาชีพ ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เป็นมหาวิทยาลัยแรกในการจัดทำหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานโดยสถานศึกษา และได้รับความร่วมมือกับสถานประกอบการทำให้มีนวัตกรรมในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพเฉพาะทาง รวมไปถึงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาเพื่อที่จะเรียนรู้จะต่อยอดต่อการทำงานในอนาคตอีกด้วย" รองอธิการบดีฯ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยุตม์ วะนา รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลโครงการ กล่าวว่า สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 300 คน เป็นกลุ่มแคดดี้ 200 คน และกลุ่มอาชีพสปาและนวดแผนไทย 100 คน ในพื้นที่จังหวัด กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และชลบุรี โดยการอบรมแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และภาษาอังกฤษเพื่อการประกอบอาชีพ รวม 30 ชม.
"ขณะนี้ ได้ดำเนินการอบรมให้แก่กลุ่มอาชีพสปาและนวดแผนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลักสูตรจะเน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษกับผู้มาใช้บริการ คำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ จะไม่ได้มีแค่การบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม การสร้างสถานการณ์จำลองให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกพูด ฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งผลจากการทำ Post-test ผู้เข้าอบรมมีพัฒนาการด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ" ผศ.ดร.ชยุตม์ กล่าว