พูดคุยกับนักศึกษา MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สามารถคว้าแชมป์โลกในการแข่งขันทางด้านบริหารธุรกิจ Simulation Game CAPSIM Challenge 2024
เป็นที่น่าภาคภูมิใจของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้าแชมป์ระดับโลก ในการแข่งขัน Simulation Game CAPSIM Challenge 2024
การแข่งขันครั้งนี้จัดโดย CAPSIM Management Simulations Inc. มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 100 คนจาก Business School ทั่วโลก ในรอบคัดเลือกนักศึกษา MBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้ง 3 คน คือ พิพิธธน ละอองแก้ว, ศุภสิน วิจิตรตระการรุ่ง และ ศิรดา จินดาอุดมเศรษฐ ติดอันดับ Top 6 ซึ่งตามกฎของการแข่งขัน จะอนุญาตให้ผู้ที่เข้าแข่งรอบสุดท้าย 6 คน ต้องไม่อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน พิพิธธน จึงได้รับเลือกเข้าแข่งขันรอบสุดท้าย
ผลการแข่งขันรอบสุดท้าย พิพิธธน สามารถคว้าแชมป์โลกด้วยคะแนน 834 เต็ม 1,000 เอาชนะคู่แข่งจาก Indian Institute of Management ประเทศอินเดีย University of Massachusetts - Amherst จากประเทศสหรัฐอเมริกา University of Warsaw จากประเทศโปแลนด์ Bharathidasan Institute of Management และ Narsee Monjee Institute of Management Studies จากประเทศอินเดีย
ชวนมาพูดคุยกับ พิพิธธน ละอองแก้ว นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขัน ว่าอะไรคือหัวใจสำคัญในการคว้าชัย และความรู้สึกที่ได้รับรางวัลระดับโลก
Simulation Game CAPSIM Challenge 2024 คืออะไร?
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงสงสัยไม่น้อย ว่า Simulation Game CAPSIM Challenge 2024 คืออะไร? ผมจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ และรวบรัดแบบนี้ครับ the CAPSIM Challenge 2024 เป็นการแข่งที่ทางบริษัท CAPSIM ได้จัดทำขึ้นเพื่อนำความรู้ทางด้านบริหารธุรกิจในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันระดับโลก ผ่านเกมที่ชื่อว่า "CAPSTONE" ซึ่งผู้เล่นเกมจะรับบทเป็นผู้บริหาร ดูแลบริษัทฯ มูลค่าหลายล้านเหรียญ ต้องวางแผนกลยุทธ์โดยตัดสินใจทางเลือกทั้งหมด 4 แผนกหลัก ๆ ได้แก่ แผนกการวิจัยและพัฒนา แผนกการตลาด แผนกการผลิต และแผนกการเงิน จุดที่น่าสนใจและท้าทายของ CAPSTONE คือ การแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่สามารถคาดการณ์กลยุทธ์ได้ง่าย ๆ ยิ่งในเวทีการแข่งขันด้วยระดับโลกด้วยยิ่งแล้วใหญ่ คาดการณ์ได้ยาก ประกอบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเล่นเกมซึ่งต้องแก้ไขอีกไม่น้อย ดังนั้นเรียกได้ว่าผู้เล่นเกมทุกท่านจะต้องใช้ท่าไม้ตาย งัดเอาสิ่งที่เรียนมาออกมาใช้อย่างสุดความสามารถ พร้อมทั้งต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าให้ทันท่วงที
The CAPSIM Challenge 2024 มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจาก 10 กว่าประเทศ การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบแรก คือ รอบคัดเลือก และผู้แข่งขันที่ได้คะแนน Balanced Scorecard สูงสุด 6 ลำดับแรกของแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้เข้าแข่งขันต่อในรอบที่สองหรือรอบชิงชนะเลิศ ความหินของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ คือ การแข่งขันต่อเนื่องทั้งหมด 8 รอบ และให้ระยะเวลาการตัดสินใจรอบละ 1 ชั่วโมง เท่ากับว่าต้องใช้ระยะเวลาถึง 8 ชั่วโมงสำหรับการแข่งขัน และสุดท้ายเช่นเดียวกันกับรอบแรก ผู้แข่งขันที่มีคะแนน Balanced Scorecard สูงสุดจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน
แชร์ประสบการณ์ การเตรียมตัวและอุปสรรคในการแข่งขัน
ประสบการณ์ สำหรับ CAPSTONE ไม่รู้จะเรียกว่า ผมโชคดีได้หรือป่าว เพราะ CAPSTONE ถูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ทั้งรายวิชาที่ต้องเรียนและการสอบประมวลความรู้ ดังนั้น ผมจึงมีประสบการณ์ถึงสองครั้งสำหรับการเล่นเกม
อุปสรรค ในตอนแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ อย่างที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าการแข่งขันรอบฯ นี้มีระยะเวลาถึง 8 ชั่วโมง แถมเวลาแข่งขันเป็นไปตามกรอบเวลาของประเทศสหรัฐฯ (CDT) หากเทียบเวลากับเวลาของประเทศไทยนั้น คือ 4 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า เรียกได้ว่าแข่งขันกันข้ามคืนเลยทีเดียว ซึ่งกระทบเวลาพักผ่อนปกติพอสมควร ตอนแข่งขันรอบฯ พูดได้เลยว่า "เกือบหลับ แต่กลับมาได้"
การเตรียมตัว เนื่องด้วยระยะเวลาในการแข่งขันแต่ละรอบมีเพียงหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การบริหารเวลา การตัดสินใจในแต่ละทางเลือกนั้นต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงกลยุทธ์การเล่นเกมต้องถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ผลลัพธ์ในภาพรวมออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
หัวใจสำคัญที่ทำให้คว้าชัย
อย่างแรกคือ ความเข้าใจ ผมคิดเสมอว่าไม่ว่าเราจะกระทำอะไรก็ตาม ควรต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองกระทำก่อน CAPSTONE ก็เช่นกัน คุณต้องเข้าใจในกติกาและรายละเอียดของเกมอย่างถ่องแท้ ในการแข่งขันเราไม่สามารถคาดการณ์กลยุทธ์ของคู่แข่งได้ง่าย ๆ ดังนั้น การเข้าใจในเกมอย่างถ่องแท้จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
สองคือ คิดและทำให้แตกต่าง ตอนแข่งขันผมมีสมมติฐานที่ว่าหากทุกคนเล่นเหมือนกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่แตกต่างกันมาก ดังนั้น หากต้องการชนะในการแข่งขัน ผมต้องคิดกลยุทธ์ให้แตกต่างและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเล่นแบบเดิม ๆ รวมทั้งแผนฉุกเฉินและกลยุทธ์การตอบโต้ในกรณีไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้ด้วย
ความรู้สึกที่ได้รับรางวัลระดับโลก
แน่นอนครับ ผมดีใจมาก (กอไก่อาจยาวได้ถึงล้านตัวอักษร) แต่นอกเหนือจากความรู้สึกดีใจนี้ คือ ความภาคภูมิใจ เพราะผมเป็นนักศึกษาคนแรกของโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจที่คว้าแชมป์รายการนี้ รวมถึงความภาคภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงระดับโลกให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย
ทิ้งท้าย
การได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่ได้รับการผลักดันและสนับสนุนด้านต่าง ๆ จาก ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ตลอดจนคณาจารย์ทุกท่านที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงคำแนะนำและกำลังใจจากเพื่อน ๆ MBA รุ่น 51 ทุกท่าน ผมเองต้องขอขอบพระคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่านเป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้
"ผมเชื่อว่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกท่านนั้นมีความรู้ ความสามารถ ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าการชนะเลิศในการแข่งขันระดับโลกนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่คิดว่าไม่เกินความสามารถของเพื่อน ๆ น้อง ๆ ทุกท่านที่สนใจในเกม CAPSTONE แน่นอนครับ ดังนั้น ตั้งใจ ใส่ใจ ทุกท่านสามารถทำได้แน่นอนครับ สู้ ๆ นะครับ"