เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมสนทนา Fireside Chat กับ Mr. Adam Nye ผู้บริหารของ Argus Media ในหัวข้อ "Navigating Corporate Stewardship - Advancing ESG Initiatives and Achieving Decarbonization Goals in the VCM" ในงานสัมมนา Argus Asia Carbon Conference จัดโดย Argus Media สื่อที่เชี่ยวชาญในการนำเสนอข้อมูลรายงานและการวิเคราะห์ตลาดพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
การประชุมดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะและข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยนางกลอยตาได้กล่าวถึง การดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ตามแนวทาง ESG ตลอดระยะเวลา 40 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero GHG Emissions ในปีค.ศ. 2050 ผ่านแผน BCP316NET ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงกระบวนการผลิต การสร้างสมดุลทางระบบนิเวศ และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาดด้วยเทคโนยี โดยใช้ตลาดคาร์บอนเป็นหนึ่งในกลไกชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร แต่ต้องให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุดก่อนชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต
สำหรับตลาดคาร์บอนในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตลาดภาคสมัครใจ (VCM - Voluntary Carbon Market) ตั้งแต่ปี 2555 โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมีการขึ้นทะเบียนโครงการต่างๆ เช่นการพัฒนาพลังงานทดแทน การปลูกและอนุรักษ์ป่า การจัดการในภาคขนส่ง การจัดการของเสีย และการปรับปรุงในภาคเกษตรกรรม โดยภาพรวมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยนับว่ายังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการประกาศเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศไทย และการตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ของภาคธุรกิจในระดับองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่นการก่อตั้ง Carbon Markets Club โดยบางจากฯ และหน่วยงานพันธมิตร เป็นการรวมตัวในลักษณะเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและร่วมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2564
นอกจากนี้ นางกลอยตายังได้เสนอความเห็นว่าควรมีการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตร่วมกันระหว่างประเทศในอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ยกระดับราคา สามารถซื้อขายข้ามประเทศในตลาดนานาชาติ ช่วยผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างโอกาส
ในการเป็นศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตในระดับสากล