วันนี้ (21 พ.ค. 2567 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้แทนหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และบริษัทอินฟอร์ม่า มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน ProPak Asia 2024 งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีอันดับ 1 แห่งภูมิภาคเอเชีย ด้านการผลิต แปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด "เพิ่มพลังความสำเร็จในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการลงทุน" ซึ่ง บริษัทอินฟอร์ม่าฯ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 15 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ Hall EH 98-104 ไบเทค บางนา โดยเป็นงานที่จะตอบโจทย์ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปอาหาร บรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บและการขนส่ง ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สำหรับผู้ประกอบการ Start Up, SME, ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยี อัพเดทเทรนด์ และความรู้ใหม่ สู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
ทั้งนี้เนื่องในงานแถลงข่าวดังกล่าว นายสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารและบุคลากร วว. ร่วมเป็นเกียรติและจัดแสดงนิทรรศการภารกิจ "ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย" ด้วย
โดยในปีนี้ วว. จะนำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้ Theme : R&D for Carbon Neutral Society ณ บูท FY 475 Hall EH 101 นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาและบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีศักยภาพส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/อุตสาหกรรมเกษตร นวัตกรรมยกระดับพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การใช้ประโยชน์ CO2 จากโรงงานหลอมแก้วเพื่อเลี้ยงสาหร่ายระดับอุตสาหกรรมสำหรับนำไปเป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ การตรวจรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล/การบริการทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CFO) ภายใต้ขอบข่ายข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการอบรมสัมมนาด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ 1) มาตรฐานสากลสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) การยืดอายุอาหารโดยเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และการประเมินอายุการเก็บรักษาอาหาร 3) การตั้งค่าและการใช้ความไม่แน่นอนเป้าหมายเพื่อพัฒนาวิธีการทดสอบ 4) กลยุทธ์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน : เร่งการประเมินคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และ 5) ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากงานวิจัยสู่การผลิตพาณิชย์
"...ในฐานะหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเป็นหน่วยงานด้านวิจัยพัฒนา และบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ของประเทศ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า 60 ปี ในการดำเนินงานด้านวิจัยพัฒนา บริการ ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอาหาร ที่สามารถเสริมศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ให้การสนับสนุนการจัดงาน ProPak Asia มาอย่างยาวนาน โดยในปี 2024 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย มุ่งเน้นให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตและเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับโลก สำหรับไฮไลต์ของบูท วว. จะนำเสนอเทรนด์บรรจุภัณฑ์ด้านการออกแบบ วัสดุที่ใช้ ความปลอดภัยและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญให้บริการทั้งด้านการทดสอบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ขยายงานให้บริการเพิ่มขึ้น ในด้านการตรวจประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร มุ่งเน้นด้านวัสดุประเภทพลาสติก ที่เทรนด์ของโลกปัจจุบันให้ความสำคัญในการแปรกลับมาใช้ใหม่และนำไปใช้เป็นวัสดุหรือภาชนะสัมผัสอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ร่วมเสนอความคิดเห็นในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวว่า จากการที่รัฐบาลพยายามผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและโรงงานผลิตอาหาร มีบทบาทและได้รับโอกาสสำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารไทย วัตถุดิบสินค้าเกษตร และสินค้าอาหารประเภทอื่นๆ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศและธุรกิจให้เติบโตร่วมกันไปด้วย สิ่งสำคัญนอกเหนือจากอาหารแล้ว "บรรจุภัณฑ์" สามารถใช้เป็น Soft power ที่เสริมให้อาหารมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่เป็นใบไม้ เช่น ใบตองสด หรือขนมไทยที่ใช้กระทงใบตองเป็นภาชนะและเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทย หรือขนมชนิดอื่นๆ เช่น กาละแม ขนมจาก ข้าวหลาม เป็นต้น หรืออาหาร เช่น หลนเต้าเจี้ยวที่ใช้กะลามะพร้าวขัดใส่แทนชาม สามารถใช้เสิร์ฟในร้านอาหารหรือโรงแรมระดับห้าดาว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ Soft Power ของประเทศไทย ในสายอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมั่นว่าการใช้ Soft Power ในด้านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารผ่านการร่วมมือกับ วว. และหน่วยงานเครือข่าย จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ เตรียมความพร้อมในด้านคุณภาพและมาตรฐานด้านอาหาร เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
วว. พร้อมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการ ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th หรือที่ "วว. JUMP"