PwC ประเทศไทย เผยบริษัทไทยกำลังเผชิญกับอัตรากำไรที่ลดลง ส่งผลให้องค์กรหลายแห่งหันมาใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่เพื่อจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจ พร้อมแนะประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ต้องรับบทผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างทัศนคติทางดิจิทัล (Digital mindset) ในฝ่ายการเงิน รวมถึงฝ่ายอื่น ๆ ขององค์กรเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี
ดร. กษิภณ อภิมุขคุณานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันบริษัทชั้นนำหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการขาย การตลาด และการปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงอัตรากำไรของบริษัทท่ามกลางต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
"ในยุคที่เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อธุรกิจและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว บทบาทของซีเอฟโอนั้นก็กำลังเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นเพียงผู้ทำบัญชีสู่การเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์อย่างรวดเร็วมากขึ้น" ดร. กษิภณ กล่าว
"ด้วยเหตุนี้ ซีเอฟโอจำนวนมากขึ้นควรต้องเปลี่ยน mindset ของตนใหม่เพื่อเป็นผู้สนับสนุนการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงศึกษาถึงผลประโยชน์ของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งบิ๊กดาต้า เทคโนโลยีเครือข่ายโซเชียล เทคโนโลยีการเคลื่อนที่ และเทคโนโลยีคลาวด์" เขากล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจ Pulse Survey ของ PwC ประจำเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า 89% ของซีเอฟโอในประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ความท้าทายสูงสุดในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ คือ การสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการลดต้นทุนและการลงทุนเพื่อการเติบโต ผู้บริหารฝ่ายการเงินควรเร่งสร้างมูลค่าดิจิทัล ซึ่งหมายรวมถึงการเพิ่มผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนดิจิทัลเพื่อนำกลับมาลงทุนในแผนริเริ่มการเติบโตเชิงกลยุทธ์
ผลสำรวจระบุด้วยว่า แนวทางดังกล่าวยังต้องอาศัยการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับทุกแง่มุมของธุรกิจ รวมถึงการใช้โซลูชันคลาวด์เพื่อปรับปรุงเส้นทางของผู้บริโภค (Customer journey) นอกจากนี้ ซีเอฟโอควรให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว แม้จะหมายถึงการเสียสละผลประโยชน์ในระยะสั้นก็ตาม
"ซีเอฟโอที่มีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล จะต้องเปลี่ยนตัวเองจากการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ สู่การเป็นผู้นำเชิงนวัตกรรมมากขึ้น" ดร. กษิภณ กล่าว
ซีเอฟโอมีบทบาทสำคัญในการประยุกต์ใช้ GenAI
แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI: GenAI) กำลังสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่อัตราการนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรโดยทั่วไปแล้วยังอยู่ในระดับที่ต่ำ
บทความ 'Future of finance: How the finance function is turning tech into a competitive advantage' โดย PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีเพียง 16% ของธุรกิจเท่านั้นที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่อง GenAI และ 42% กล่าวว่า ยังไม่ได้เริ่มนำ GenAI ไปใช้เลยด้วยซ้ำ สอดคล้องกับข้อมูลของผู้นำธุรกิจไทยที่พบว่า 45% ของซีอีโอชาวไทย ก็ยังไม่ได้นำ GenAI มาประยุกต์ใช้กับบริษัทของตนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทหลายแห่งยังคงลังเลที่จะนำโซลูชันนวัตกรรมอย่าง GenAI มาใช้ในช่วงแรก ๆ แต่เทคโนโลยีดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถสนับสนุนองค์กรในด้านต่าง ๆ ของฝ่ายการเงินได้ เช่น การประมวลผลเรียกร้องสินไหมอัจฉริยะ การปฏิบัติตามภาษี การคาดการณ์วงเงินเครดิตเกินวงเงิน การดำเนินการตามคำสั่งขายให้เสร็จสิ้นโดยอัตโนมัติ และการปลดบล็อคเครดิตอัจฉริยะ เป็นต้น
ซีเอฟโอสามารถมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ GenAI ขององค์กรด้วยการทำความเข้าใจบริบทการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนการใช้งานและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางการเงินต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จ ซึ่งรวมถึงการใช้ประโยชน์จาก GenAI เพื่อปรับปรุงการวิเคราะห์ทางการเงิน การคาดการณ์ และการตัดสินใจต่าง ๆ
นอกจากนี้ ซีเอฟโอยังสามารถทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น ๆ เพื่อระบุถึงโอกาสในการนำ GenAI ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทางการเงินและปรับปรุงผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจ
"GenAI ถือเป็นโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมขององค์กร แต่ซีเอฟโอส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่เสี่ยงที่จะเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ โดยหลายคนยังคงพอใจกับการเป็นผู้ตาม และสังเกตบริษัทอื่น ๆ ทดลองใช้ก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จก่อนที่ตนจะนำไปใช้ ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ซีเอฟโอเสียโอกาสที่จะสามารถเป็นผู้สนับสนุนการสร้างความตระหนักถึงศักยภาพของการลงทุนด้านเทคโนโลยีของบริษัทของตนอย่างแท้จริง" ดร. กษิภณ กล่าว