"บมจ.ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO" ชูกลยุทธ์บริหารธุรกิจปี 2567 เน้นดูแลสภาพคล่องเป็นหลัก รักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ รวมถึงควบคุมหนี้ NPL และค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เผยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดแข็งแกร่ง ล่าสุดไถ่ถอนหุ้นกู้ชุด MICRO244A 321.1 ลบ. ช่วงเดือน เม.ย. 2567 พร้อมดอกเบี้ยโดยใช้เฉพาะแหล่งเงินของบริษัทเอง นอกจากนั้นบริษัทยังมีวงเงินธนาคารที่สามารถกู้ได้อีกราว 1 พันลบ. เตรียมความพร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือน ต.ค. 2567 โดยบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่หลังจากคืนชุดเดิมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้เดิมสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ภาพรวมธุรกิจโค้งแรกปี 2567 การปล่อยสินเชื่อลดลง เนื่องจากบริษัทค่อนข้างใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพหนี้ได้ดีขึ้น โดย NPL ลดลง ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 4.43% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,262 ลบ.
นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO เปิดเผยว่า ภาพรวม MICRO เริ่มเห็นผลบวกจากการจัดการกับคุณภาพสินทรัพย์ตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยจำนวนรถยึดอยู่ในระดับที่คุมได้ โดยแผนธุรกิจของ MICRO ในปีนี้หลักๆ ยังคงเน้นการดูแลสภาพคล่องและรักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ และดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เนื่องด้วยบริษัทไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อมากนัก รวมทั้ง ลดต้นทุนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ไม่ต้องเช่าพื้นที่หลายสาขา ที่ผ่านมาได้มีการควบรวมสาขา 6 สาขา ทำให้ปัจจุบัน MICRO มีสาขาอยู่ที่ 19 สาขา จากเดิมมี 25 สาขา อย่างไรก็ดี หากภาวะเศรษฐกิจกลับมาดีเราก็สามารถกลับมาเปิดสาขาใหม่เพิ่มได้ ซึ่งสาขาที่เปิดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่า ไม่ได้มีการลงทุนมากนัก
โดยในปี 2567 บริษัทยังคงสานต่อกลยุทธ์ในการเน้นการดูแลสภาพคล่องเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินแข็งแกร่งกว่า 300 ล้านบาท หลังจากไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นเดือนเมษายน 67 จำนวน 321.1 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วโดยใช้กระแสเงินสดคงเหลือจากการรับชำระค่างวดของบริษัทเอง นอกจากนี้บริษัทยังมีวงเงินธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ได้อีกราว 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้อีก 2 รุ่น ในเดือนตุลาคม จำนวน 762.1 ล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าจะออกหุ้นกู้หลังจากชำระหุ้นกู้เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นกู้ให้สามารถลงทุนกับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นแหล่งเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง
"ภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ การปล่อยสินเชื่อลดลง เนื่องจากบริษัทยังใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อทั้งรถบรรทุกและรถจักรยานยนต์ รวมทั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับราคากลางรถบรรทุกลงราว 20% ในแต่ละรุ่นจากสถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมที่ความต้องการใช้รถบรรทุกยังน้อยกว่าจำนวนรถบรรทุกมือสองที่ขายอยู่ในตลาด และภาคธุรกิจก่อสร้างเองยังคงได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า โดยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 67 บริษัทจะเน้นการดูแลสภาพคล่อง คุมคุณภาพหนี้เป็นหลัก รักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ รวมถึงควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 4.43% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,262 ล้านบาท" นายวิศาลท์ กล่าว
โดยในกลุ่มธุรกิจประกอบด้วย บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด (MPLUS) ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งในไตรมาส 1/67 สามารถเริ่มสร้างกำไรให้กับกลุ่มบริษัทได้แล้ว จากการที่ MPLUS สามารถควบคุมคุณภาพหนี้ได้ค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม บริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด (MIB) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต วางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อทั้งรถบรรทุกมือสอง และรถจักรยานยนต์
ส่วนบริษัท ไมโคร ฟิน จำกัด (MFIN) ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้เริ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่าของบริษัท (Top-up) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/66 และเริ่มปล่อยสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน (Title Loan) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา โดยปี 2567 เน้นขยายจากฐานลูกค้าเดิมของ MICRO เป็นหลัก เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางให้กับบริษัท