- จัดหารถ 2 คัน เป็นโครงการนำร่อง ทดสอบประสิทธิภาพการวิ่งด้วยเชื้อเพลิง LNG
- เกียรติธนาฯ ย้ำความเป็นผู้นำในการนำเสนอเชื้อเพลิงที่ให้ลูกค้าสามารถแข่งขันในตลาด
บริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ผู้นำในการให้บริการด้านการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษที่เน้นความปลอดภัยสูงจับมือบริษัท เอฟ เอ ดับบลิว (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถบรรทุก FAW แต่ผู้เดียวในประเทศไทย เดินหน้าโครงการทดสอบการใช้รถบรรทุกเชื้อเพลิง LNG เพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้าที่จะใช้รถบรรทุกพลังงานสะอาดด้วยต้นทุนแข่งขันได้ในตลาด
นายเมฆ มนต์เสรีนุสรณ์ รองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บมจ. เกียรติธนา ขนส่ง เปิดเผยว่าน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนหลักของภาคขนส่ง โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30% ในขณะที่รัฐบาลได้ส่งสัญญาณที่จะชะลอการอุดหนุนน้ำมันดีเซล โดยได้มีการปรับราคาขึ้นไปแล้วจาก 29.44 บาท/ลิตร เป็น 32.44 บาท/ลิตร โดยไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งจำเป็นต้องศึกษาทางเลือกของแหล่งพลังงานที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า
"เกียรติธนาฯ เป็นผู้นำด้านการให้บริการที่เป็นเลิศ ในราคายุติธรรม เพื่อให้ลูกค้าสามารถแข่งขันในตลาดได้ การเป็นผู้นำแบบนี้ เราจึงจำเป็นต้องมองหาทางเลือกเชื้อเพลิงที่หลากหลายเพื่อคุมต้นทุน ดังนั้น หากดีเซลไม่ได้ถูกตรึงไว้ที่ลิตรละ 30 บาทอีกต่อไป เราจึงต้องเร่งหาพลังงานอื่นที่ตอบโจทย์ของลูกค้าที่ต้องการต้นทุนที่ต่ำ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม LNG จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ" นายเมฆ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเมฆกล่าวว่าภาคขนส่งในประเทศไทยยังใหม่กับรถบรรทุกที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในตลาดสากล ทั้งฝั่งยุโรป หรือฝั่งจีน มีการใช้กันมานานแล้ว ที่สำคัญ รถบรรทุกที่ใช้เชื้อเพลิง LNG นั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม เพราะมีการปล่อย Greenhouse Gas (GHG) น้อยกว่ารถดีเซลถึง 30%, ปล่อย Nitrogen oxides (NOx) น้อยกว่า 95% และ Particulate Matter (PM) น้อยกว่า 80%
"ในขณะที่ตลาดก๊าซ NGV ก็ยังทรงตัว แต่อาจไม่ได้รับความนิยมเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากรถบรรทุกเชื้อเพลิง NGV ก็เริ่มมีอายุมากขึ้น ค่าซ่อมบำรุงสูง และจำนวนสถานีบริการทยอยลดลง ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความต้องการลดลงตาม" นายเมฆ กล่าว
นายเมฆ กล่าวว่าภายใต้โครงการนำร่องศึกษาแนวทางการใช้ LNG KIAT ได้นำรถบรรทุกยี่ห้อ FAW รุ่น 300HP และ 380HP ซึ่งเป็นรถที่ใช้ LNG เป็นพลังงาน จำนวน 2 คัน เพื่อทำการทดลองใช้งานจริงเพื่อคำนวณต้นทุนว่าจะสามารถแข่งขันกับพลังงานชนิดอื่นได้หรือไม่ โดยจะใช้เวลาทดลองทั้งสิ้น 1-2 เดือน
ทางด้านนายวฤธ ลีสวรรค์ กรรมการ บริษัท เอฟ เอ ดับบลิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุก FAW มาเป็นเวลา 12 ปี ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า โดยสามารถจำหน่ายรถบรรทุก FAW ไปแล้วมากกว่า 1,000 คัน ทั้งนี้เพราะบริษัทฯ ได้สรรหาผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพตรงกับความต้องการใช้งานของลูกค้า และที่สำคัญ บริษัทฯ เน้นคุณภาพบริการหลังการขายเป็นหัวใจของการทำตลาด การขายรถบรรทุก
"เรารู้ว่าคนส่วนใหญ่ในอดีตมองรถจีนต่างไปจากรถค่ายญี่ปุ่นและยุโรป แต่เรากลับมองว่าคุณภาพของ รถบรรทุกขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ขายในการเลือกสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทยให้เหมาะสม เราจึงเป็นผู้กำหนดสเปค ของรถบรรทุก FAW ทุกคันให้กับโรงงานผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในประเทศไทยเท่านั้น เราต้องนำเสนอสินค้าที่ดี มีคุณภาพตรงกับการใช้งานของลูกค้า นั่นคือบริการหลังการขาย ซึ่งเราเน้นเรื่องนี้มากเพราะเราอยู่ในธุรกิจนี้มาเป็นเวลายาวนานถึง 67 ปี เราจึงเข้าใจความต้องการและความรู้สึกของลูกค้าเป็นอย่างดี" นายวฤธ กล่าว
นายวฤธ กล่าวว่ารถ FAW เป็นรถที่ได้รับการยอมรับจากตลาดด้วยคุณภาพที่ดี ในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง "เราไม่เคยทอดทิ้งลูกค้า เราดูแลตลอด โดยเฉพาะ Service Contract ที่ครอบคลุมยาว 7 - 10 ปี ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเพราะสามารถคำนวณต้นทุนได้ตลอดอายุการใช้งานของรถ FAW และที่สำคัญ FAW เป็นเพียงยี่ห้อเดียวที่มีรถที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง LNG ในขณะนี้
นายเมฆ กล่าวเพิ่มเตขิมว่า KIAT มีประสบการณ์การใช้รถบรรทุกหลากหลายรุ่น หลายยี่ห้อ ซึ่ง FAW เป็นอีกแบรนด์รถบรรทุกที่ KIAT นำเข้าประจำการในกองรถ
"ที่เราเลือกใช้ FAW สำหรับโครงการนำร่องครั้งนี้เพราะ FAW เป็นเพียงแบรนด์เดียวที่มีรถบรรทุกที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง LNG ในประเทศไทย และที่สำคัญคือเรามีประสบการณ์ที่ดีกับ FAW ด้วยบริการหลังการขาย บวกกับสมรรถนะในตัวรถที่ตอบโจทย์ลูกค้าของเรา" นายเมฆ กล่าว
นายเมฆ กล่าวเพิ่มเติมว่าในภาคขนส่ง มีความต้องการแหล่งพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย โดย LNG ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ และอยากให้ผู้ให้บริการสถานีบริการอย่าง ปตท. หรือ บางจาก ได้เร่งดำเนินการขยายเครือข่ายจำหน่าย LNG ให้มากขึ้นเพื่อให้ LNG เป็นที่นิยมของภาคขนส่งเช่นเดียวกับที่ NGV ที่รัฐบาลเคยส่งเสริมจนเป็นที่ยอมรับของภาคขนส่ง