Jobsdb by SEEK ชี้ งานหนัก สาเหตุหลักทำพนักงานเครียดจนลาออก แนะกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิต ช่วยรักษาพนักงานให้ภักดีกับองค์กร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2024 10:23 —ThaiPR.net

Jobsdb by SEEK ชี้ งานหนัก สาเหตุหลักทำพนักงานเครียดจนลาออก แนะกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิต ช่วยรักษาพนักงานให้ภักดีกับองค์กร

Jobsdb by SEEK แนะผู้ประกอบการเพิ่มสวัสดิการดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ยาวนานยิ่งขึ้น หลังผลสำรวจจากรายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567 โดย Jobsdb by SEEK ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้านความเครียดในองค์กรทำให้พนักงานลาออกสูงถึง 33% 

จากข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซึมเศร้า จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,156,734 คน ในปี 2564 เป็น 1,240,729 โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต จำนวน 4.4 ล้านคน คิดเป็น 6.44% ของประชากรไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 2.5 ล้านคนในปี 2565 อีกทั้งข้อมูลจาก Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต จากผู้ตอบแบบประเมิน 5.28 ล้านคน พบว่าสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ในระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 7.87% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.25% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.26% ดังนั้น เรื่องการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กร เพราะพนักงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจ ในภาวะการแข่งขันที่ทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้น           

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK เผยผลรายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567" ในเรื่องสุขภาพจิตในสถานที่ทำงาน รวมถึงความท้าทายที่องค์กร และพนักงานต้องเผชิญจากปัจจัยด้านสุขภาพจิตดังกล่าว ที่จัดทำโดย Jobsdb by SEEK โดยรวบรวมข้อมูลจาก 685 บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมและตำแหน่งงานในประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงาน ระดับความเครียด สาเหตุของความเครียด รวมถึงได้เสนอแนะกลยุทธ์ในการรักษาพนักงานผู้ที่มีความสามารถไว้ให้ได้

จากรายงาน พบว่า สถานประกอบการ 69% ให้คะแนนองค์กรของตนว่าเป็นสถานที่ทำงานที่มีความเครียดในระดับปานกลาง (ระหว่าง 3 ถึง 7) โดยระดับความเครียดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ระดับความเครียดสูงสุดคือระดับ 5 หรือ คิดเป็น 26% แสดงให้เห็นว่าที่ทำงานส่วนใหญ่มีระดับความเครียดประมาณค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม 14% ของบริษัทอยู่ในกลุ่มที่มีความเครียดระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในธุรกิจบริการ

โดยรวมแล้วผู้ประกอบการรู้สึกว่าสาเหตุหลักของความเครียดในองค์กร คือ ภาระงานหนัก (43%) ตามมาด้วยทรัพยากรไม่เพียงพอ (26%) และความกดดันสูงจากฝ่ายบริหารหรือการทำงาน ที่รวดเร็ว (24%) อีกทั้งสาเหตุเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มบริษัทที่อยู่ในช่วงความเครียดสูงซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การลาออกสูง (33%) อคติหรือการเลือกปฏิบัติ (31%) ขาดการชื่นชมและยอมรับในผลงาน (26%) ค่าตอบแทนต่ำ (27%) และลำดับชั้นที่มากเกินไป (27%)

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจแนวโน้มในอนาคตของสวัสดิการด้านความสมดุลของชีวิตและการงาน ชี้ให้เห็นว่า มีองค์กรถึง 43% เริ่มหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพจิตใจของพนักงานมากขึ้น โดยริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ  วันหยุดเพื่อสุขภาพจิต และ การให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพ สายด่วน/การสื่อสาร/การให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนพนักงานที่มีความเครียด หลายบริษัทจัดการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือการดูแลสุขภาพบ่อยขึ้น โดยเฉลี่ย 4.6 ครั้งต่อปี แสดงให้เห็นว่าสวัสดิการที่มากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการอีกหลากหลายรูปแบบที่มีความน่าสนใจ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลด้านสุขภาพจิตของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสมดุลให้กับชีวิตของพนักงาน เพื่อให้พนักงานเกิดความผ่อนคลายจากการทำงานมากยิ่งขึ้น อาทิ กิจกรรมขององค์กร (ท่องเที่ยว, วิชาเรียนที่น่าสนใจ), เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น, การจัดหาอาหารว่าง/ เครื่องดื่ม/ ผลไม้ให้พนักงานได้รับประทานระหว่างวัน, การลาก่อนช่วงเทศกาล, วันทำงานที่ยืดหยุ่น หรือความบันเทิง/กิจกรรมออกกำลังกายที่สำนักงาน เช่น จ้างเทรนเนอร์มาที่สำนักงานในชั่วโมงออกกำลังกาย เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีศึกษาสวัสดิการเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อนำมาปรับใช้กับบุคลากร นอกจากจะเป็นการช่วยให้พนักงานมีความสุข และมีสมดุลในการทำงานมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรและบุคลากรอีกด้วย

"สุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการจึงควรมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพนักงานให้มากขึ้น จากผลรายงานพบว่า 58% ของผู้ประกอบการเห็นว่าสิ่งที่องค์กรทำเพียงพอที่จะช่วยให้พนักงานรับมือกับความเครียดได้ ซึ่งจากสัดส่วนดังกล่าวที่ไม่สูง ทำให้เห็นว่าในองค์กรยังมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับรายงานจากกรมสุขภาพจิตที่พบว่าแนวโน้มของความเครียดของพนักงานมีอัตราที่สูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นการสนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเครียดในองค์กร จึงเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรละเลยเช่นกัน"

คุณดวงพร กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ : https://th.employer.seek.com/th/page/hiring-compensation-benefits-report-2024


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ