นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ขณะนี้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมอ่าวไทยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยตอนบนในระยะนี้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณทะเลอันดามันตลอดจนอ่าวไทยมีคลื่นสูง และจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ สภาพที่มีฝนและอากาศชื้น เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเน่าในพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเน่าในปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันพบพื้นที่ระบาดโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันแล้ว 12,462.70 ไร่ ใน 11 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี จากพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด 4,812,335.71 ไร่ (ข้อมูลการระบาด ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2567)
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ หมั่นสำรวจสวนเตรียมพร้อมรับมือและเฝ้าระวังโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน อันเป็นปัญหาที่เกษตรกรเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากเชื้อราสาเหตุของโรคจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อรากต้นปาล์มน้ำมัน ทำให้ต้นขาดน้ำ ออกผลเล็กลง ใบเปลี่ยนรูปและเหี่ยว กระทั่งต้นเน่ายืนต้นตาย โดยสปอร์ของเชื้อราสาเหตุสามารถแพร่กระจาย โดยผ่าน ลม น้ำ เครื่องมือทางการเกษตร และการสัมผัสกันของราก
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะอาการภายนอกของโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันในระยะเริ่มแรกค่อนข้างสังเกตได้ยาก เนื่องจากมักมีลักษณะคล้ายอาการขาดธาตุอาหาร โดยต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1 -2 ปี จะมีอาการใบเหลืองหรือด่าง เป็นปื้นบนทางใบล่าง ใบย่อยแห้งตาย ยอดที่ยังไม่คลี่สั้นกว่าปกติและสีซีด แต่ในปาล์มน้ำมันที่มีอายุ มากกว่า 20 ปี เริ่มแรกมักสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยทางใบแก่จะมีสีซีดจางและหักพับลงรอบลำต้น ทางยอดไม่คลี่มีจำนวนมากกว่าปกติ เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะค่อยๆ แห้งตาย ลุกลามจนถึงยอด รากที่อยู่บริเวณโคนต้นเปื่อยแห้ง เน่า และเกิดดอกเห็ด
สำหรับข้อควรปฏิบัติของเกษตรกรก่อนปลูก คือ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 4-10 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 50-100 กิโลกรัม หว่านหรือรองก้นหลุมอัตรา 100 กรัมต่อหลุม หรือหว่านในแปลงปลูกหรือรอบทรงพุ่มในอัตรา 3-6 กิโลกรัมต่อต้น หมั่นดูแลรักษาแปลงปลูกให้สะอาด จัดการระบบระบายน้ำให้ดี และบำรุงรักษาต้นปาล์มน้ำมันให้แข็งแรง โดยใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมตามการเจริญเติบโต จากนั้นควรหมั่นสังเกตอาการของโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน ซึ่งมักพบในต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป หรือต้นปาล์มน้ำมันอายุ 1-2 ปี ที่ปลูกซ้ำในแปลงเกิดโรค เกษตรกรจึงควรหมั่นตรวจสอบต้นที่คาดว่าจะเป็นโรคโดยใช้ไม้เคาะลำต้นปาล์มน้ำมันเพื่อฟังเสียงบริเวณที่ถูกทำลาย และสังเกตต้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้นที่เป็นโรค หากพบอาการของโรคให้รีบป้องกันกำจัด โดยเก็บดอกเห็ดที่ขึ้นบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคหรือที่รากบริเวณผิวดินไปทำลายนอกแปลงปลูก ถากบริเวณเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกแล้วทาทับด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา หากยังคงมีดอกเห็ดเกิดขึ้นและอาการยังรุนแรงต่อเนื่องให้ถากซ้ำและทาทับด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น โคลทาร์ สารที่มีส่วนผสมของโคลทาร์ สารไทแรม หรือสารเคมีกำจัดเชื้อรากลุ่มไตรอะโซล รวมถึงกำจัดดอกเห็ด และวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นออกไปให้หมด เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในธรรมชาติ ตลอดจนทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรก่อนนำไปใช้ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว