คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชู 6 หลักสูตรระดับปริญญาตรี ผ่านการรับรองมาตรฐาน ABET สหรัฐอเมริกา ยกระดับวิศวกรรมศาสตร์ไทยแข่งระดับโลก ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ สามารถทำงานและศึกษาต่อได้ทั่วโลก พร้อมเดินหน้าต่อยอดสร้างมาตรฐานสู่หลักสูตรปริญญาโท และมาตรฐาน AUN-QA ในระดับปริญญาเอก
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี รวมถึงความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับบทบาท ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก สร้างสรรถนะผู้เรียนในแบบฉบับของความเป็นไทยสู่สากล เพื่อตอบโจทย์การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในระดับสากล และสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานหรือศึกษาต่อได้ทุกประเทศทั่วโลก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวม 7 ภาควิชา และ 2 กลุ่มสาขาวิชา ประกอบด้วยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ และกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง โดยปัจจุบันหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ได้รับการรับรองมาตรฐานโลกจาก ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) สหรัฐอเมริกา ใน 6 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมชีวการแพทย์ ส่วนสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ยื่นขอการรับรองเมื่อปี 2566 คาดว่า ABET จะประกาศการรับรองในเดือนตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้ทุกหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี ได้รับการรับรองมาตรฐานของ ABET ครบทุกสาขาวิชา โดยหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก ABET จะสามารถโอนหน่วยกิตไปยังประเทศที่จะไปศึกษาต่อได้ และที่สำคัญผู้จบการศึกษาเป็นที่ยอมรับในคุณภาพสากลและมีโอกาสเข้าทำงานได้ทั่วโลก
รศ.ดร.ธนภัทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความสำเร็จในการผลักดันหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรีให้ได้มาตรฐานคุณภาพจาก ABET แล้ว ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ระหว่างการต่อยอดสู่หลักสูตรอื่น ๆ ในระดับปริญญาโท ให้ได้รับการรับรองจาก ABET รวมทั้งสร้างระบบประกันคุณภาพการศึกษาในอาเซียน ตามเกณฑ์ AUN-QA (Asean University Network Quality Assurance) ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการศึกษา ในหลักสูตรระดับปริญญาเอก เพื่อผลักดันให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสังคมโลก ด้วยการวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการทางวิศวกรรมระดับโลก
"คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีจุดเด่นด้าน Internationalization มีพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย มีหลักสูตรร่วมที่เป็น Double Degree และ Joint Degree อย่างหลากหลาย เช่น เรียนที่มหิดล 2 ปี ไปเรียนต่างประเทศอีก 2 ปี โดยล่าสุดได้รับการจัดอันดับจาก SCImago Institutions Rankings (SIR) 2024 ให้เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ และพร้อมที่จะสนองนโยบายสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสภาคณบดีวิศวกรรมแห่งประเทศไทย ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนากำลังคนขั้นสูงให้กับประเทศ การสร้างความเป็นเลิศด้านงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล" รศ.ดร.ธนภัทร์ กล่าวในตอนท้าย