สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ในฐานะหน่วยงานพัฒนาองค์ความรู้ที่ช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำให้คนไทยได้รับความรู้และมีทักษะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมในศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยเพิ่มพูนโอกาสในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้มากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา OKMD ได้ทำการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณให้คนในสังคมได้เห็นถึงโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระแสแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการเตรียมพร้อมเพื่อพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายออกไปสู่สาธารณะผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป
OKMD จึงได้ ศึกษารวบรวมประเด็นองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อให้ได้ข้อมูลองค์ความรู้ที่ทันสมัย ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการใช้ชีวิต ต่อยอดพัฒนาทักษะ และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย โดยเน้นการศึกษารวบรวมองค์ความรู้ที่น่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับเทรนด์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ทั้งกระบวนการเรียนรู้และพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ในชื่อ "2024 Learning Trend Review" ให้ได้ตระหนักถึงประเด็นองค์ความรู้ที่สำคัญและสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ สร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดไอเดียและพัฒนาทักษะของตนเอง รวมทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาแนวคิดการดำเนินงานอื่นๆ ของ OKMD ต่อไป
โดยมีการศึกษารวบรวมองค์ความรู้ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานการณ์เทรนด์การเรียนรู้ในยุคนี้ พฤติกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเจเนอเรชันต่างๆ นวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆที้เกิดขึ้น การเตรียมพร้อมทักษะในอนาคต แพล็ตฟอร์มการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เทรนด์การต่อยอดการทำงานในปัจจุบัน โดยมีการนำเสนอในรูปแบบเนื้อหาบทความทางแพลตฟอร์ม Knowledge Portal และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ของ OKMD
นอกจากนี้ ยังได้สรุป "10 เทรนด์การเรียนรู้ที่น่าสนใจในยุคศตวรรษที่ 21" ได้แก่
1. Bite-Sized Learning เป็นการเรียนรู้ที่กะทัดรัดมากขึ้น ในยุคที่โซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงมีการจัดทำเป็นคอร์สที่มีการแบ่งบทเรียนเป็นเนื้อหาสั้นๆ ช่วยให้ผู้เรียนค่อยๆ ซึบซับและเข้าใจเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
2. Education Transformation สถาบันการศึกษาต่างปรับหลักสูตรและวิธีการสอนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นไปที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และบูรณาการสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทั้งทางจิตใจ อารมณ์ ศีลธรรม
3.Lifelong Learning to Lifelong Learner บ่มเพาะความเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและองค์คความรู้เกิดใหม่จำนวนมาก ผู้คนเริ่มมองหารูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เน้นการเรียนรู้พัฒนาทักษะ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน จากการเรียนรู้ทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง และออฟไลน์ เติมเต็มทักษะที่ต้องการ และสามารถสะสมเครดิต เพื่อเทียบโอนการจบหลักสูตรได้
4. New EdTech เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้สามารถตอบโจทย์และรองรับการใช้งานอย่างเหมาะสม เอื้อให้คนทุกวัยเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบต่างๆ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR - Virtual Reality) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR - Augmented Reality) และ เทคโนโลยีความจริงขยาย(XR หรือ Extended Reality) ที่ช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนที่สมจริงและน่าสนใจมากขึ้น รวมถึง AI แอปพลิเคชัน คลิปวีดีโอ e-book Podcast ฯลฯ ซึ่งข้อมูลมากมายเหล่านี้จำเป็นต้องมีระบบจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้เรียนก็ต้องมีทักษะคัดกรอง แยกแยะ และเลือกใช้ให้เหมาะสม
5..Blended Learning การเรียนรู้แบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เพื่อเพิ่มขอบเขตการเรียนรู้ให้กว้างไกลและมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ได้จากหลายที่หรือแม้แต่การเรียนทางไกลช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าถึงองค์ความรู้หลากหลายมากขึ้นจากทั่วโลก
6. Skills for Future ทักษะที่จำเป็นสำคัญกว่าใบปริญญา บริษัทหลายแห่งเริ่มรับคนที่มีทักษะหรือประสบการณ์ที่ต้องการและเกิดการเรียนรู้จากการทำงานมากกว่าใบปริญญา โดยเฉพาะในยุคที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ การเข้ามามีบทบาทของAI ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ทำให้คนต้องพัฒนาทักษะ เยาวชนคนรุ่นใหม่ควรต้องได้รับการฝึกฝนในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและหาข้อมูลได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้วอย่างยุคนี้
7.Industry - Academy ภาคธุรกิจและเอกชนร่วมพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ เน้นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้สัมผัสกับรูปแบบการทำงานจริง รวมทั้งได้ฝึกพัฒนาทักษะจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และยังมีโอกาสในการทำงานต่อที่องค์กรนั้นอีกด้วย
8. Learning for Jobs เป็นการปรับตัวของอาชีพต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ สามารถนำเสนอองค์ความรู้ของตนเอง ผ่านช่องทางออนไลน์ได้หลากหลายคนที่มีความสนใจเฉพาะด้านสามารถแสวงหาความรู้ได้ง่ายขึ้นทำให้เกิดผู้เชี่ยวชาญและอาชีพเฉพาะทางเพิ่มขึ้น
9.Learn & Work from Anywhere วิถีทำงานที่เปลี่ยนไป อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ตอบโจทย์Work-Life Balance ของคนยุคใหม่ที่สามารถบริหารเวลาเพื่อจัดการชีวิตและการทำงานได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันหลายองค์กรทั่วโลกทดลองนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร
10. Work with AI การทำงานของคนร่วมกับเทคโนโลยีและ AI เป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และความผิดพลาดในการทำงาน คนทำงานจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้เพิ่มทักษะรอบด้านให้หลากหลายเพื่อทำงานร่วมกับAI ได้อย่างดีขึ้นและสามารถต่อยอดทำงานด้านอื่นในส่วนที่ AI มาแทนที่ด้วย
โดย OKMD หวังว่าเทรนด์การเรียนรู้ ที่ได้รวบรวมมา จะเป็นแนวทาง เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิต ต่อยอดพัฒนาทักษะ และสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับคนไทยได้
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/660a50f348238