กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะ 1 ตันของฟอร์ดและมาสด้า เพื่อส่งออกไปยัง 130 ประเทศทั่วโลก ไม่รวมตลาดสหรัฐอเมริกา
บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) เป็นโรงงานผลิตรถกระบะ ภายใต้การร่วมลงทุนระหว่างฟอร์ด-มาสด้า นับเป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย โดยสร้างรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 1.67 แสนล้านบาทจากการส่งออกรถยนต์ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา และสร้างดุลการค้าให้กับประเทศได้ถึงกว่า 1.09 แสนล้านบาท
ฟอร์ดและมาสด้าผนึกกำลังเร่งพัฒนาโรงงาน และขยายกำลังการผลิตรถยนต์ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการลงทุน มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ได้ประกาศการลงทุนไปเมื่อเดือนตุลาคม พศ. 2546 ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจซึ่งจะมีผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มสูงถึง
200,000 คัน ต่อปี ภายในปี 2551
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 14 ธันวาคม 2548 — มร. จิม พาดิลลา ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี กล่าวย้ำความสำคัญประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถกระบะ 1 ตันของฟอร์ด อันเป็นผลจากความสำเร็จของการร่วมทุนระหว่างฟอร์ดและมาสด้า ในโรงงาน ออโต้อัลลายแอนซ์ ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถกระบะ
ความเห็นของ มร. พาดิลลา ผู้บริหารของบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของประเทศไทย ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค โดยที่ได้ฉลองความสำเร็จในการผลิตรถยนต์ได้เกิน 1 ล้านคันไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งความภูมิใจของประเทศไทย
“ในนามของฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ผมขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่ก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็น “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” มร. พาดิลลากล่าวในงานที่จัดขึ้นสำหรับสมาชิกหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ศกนี้
“ประเทศไทยไม่ได้เป็นตลาดใหม่ในโลกยานยนต์ แต่เป็นตลาดที่ผ่านพัฒนาและประสพความสำเร็จเป็นอย่างดี การที่ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้เกินกว่า 1 ล้านคันนี้ คือเครื่องยืนยันได้ถึงศักยภาพที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต” มร. พาดิลลากล่าว และเสริมว่า คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศไทยจะมีปริมาณสูงถึงกว่า 680,000 คัน และน่าจะสูงถึง 1 ล้านคันในปี 2555
“ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี้ มีความภูมิใจที่เราได้มีส่วนร่วมกับความสำเร็จในด้านการผลิตของประเทศไทยซึ่งนับเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์* และมาสด้า ไฟเตอร์ของโลก เพื่อส่งออกไปยัง 130 ประเทศทั่วโลกไม่รวมอเมริกาเหนือ
“ออโต้อัลลายแอนซ์ (AAT) โรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานระดับโลกของเรา เริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะฟอร์ดและมาสด้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออกตั้งแต่เมื่อปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ดี ออโต้อัลลายแอนซ์ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล โดยส่งออกรถกระบะเป็นมูลค่ารวม 1.67 แสนล้านบาท สร้างดุลการค้าเกินดุลถึง 1.09 แสนล้านบาท และในไตรมาสแรกของปี 2548นี้ ออโต้อัลลายแอนซ์ ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป อันดับ 1 ของไทย โดยส่งออกรถกระบะรวม 19,388 คัน คิดเป็น 22.3% ของมูลค่าของรถยนต์สำเร็จรูปทั้งหมดที่ส่งออกรวม 8 พันล้านบาท
โรงงานนี้ ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมากถึง 80% จากผู้ผลิตในประเทศกว่า 148 ราย รวมมูลค่าปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศอย่างต่อเนื่อง
* ฟอร์ด เรนเจอร์ที่จำหน่ายในอเมริกาเหนือเป็นรถที่แตกต่างจากในประเทศไทย
“ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ได้สร้างงานให้กับคนไทยมากกว่า 4,200 คน และเราได้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ของฟอร์ด เอเชียแปซิฟิก และแอฟริกาในกรุงเทพมหาคร” มร. พาดิลลากล่าว และในภาพรวมนั้น คาดว่าการลงทุนของฟอร์ดยังสร้างงานให้กับอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องอีกถึง 25,000-30,000 คน ซึ่งเป็นแรงงานที่มีฝีมือและความชำนาญทางเทคนิค นับเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาวอีกด้วย
“การลงทุน 2 หมื่นล้านบาทในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ปรับปรุงโรงงาน และเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทย ซึ่ง มร. บิล ฟอร์ด ประธานบริษัทได้ประกาศ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 นั้น กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ มีกำลังการผลิตถึง 155,000 คันต่อปีในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 200,000 คันในปี 2551” มร. พาดิลลากล่าวย้ำ
“ความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างไร เพราะปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นตลาดรถกระบะขนาด 1 ตันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความต้องการสูงถึง 400,000 คันต่อปี และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
“เมื่อตลาดรถกระบะใหญ่มากเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการแข่งขันสูง และลูกค้าก็มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น และการที่ฟอร์ด เรนเจอร์ และมาสด้า ไฟเตอร์ต่างก็มีส่วนแบ่งตลาดสูงในตลาด สะท้อนได้ถึงความสำเร็จของความมุ่งมั่นในการนำเสนอนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น นำตลาดทั้งในด้านความปลอดภัย เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการออกแบบ และนี่คือปัจจัยที่ทำให้ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ได้รับความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก” มร. พาดิลลากล่าว
การเปิดตัวฟอร์ด โฟกัส รถยนต์นั่งรุ่นแรกไทย ที่สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซินทั่วไปและแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมได้มากถึง 20% ย้ำว่าฟอร์ดจะรุกตลาดทั่วเอเชียแปซิฟิก และยังสื่อให้เห็นว่าในปี 2549 ฟอร์ดจะนำเสนอยานยนต์ใหม่ อีกมากมายหลายรุ่นด้วย
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของฟอร์ดในเอเชียแปซิฟิก และมีบทบาทสำคัญยิ่งในกลยุทธ์การสร้างการเติบโตทางธุรกิจของฟอร์ด อย่างไรก็ดี ฟอร์ดใช้กลยุทธ์รวมในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งมีการตั้งศูนย์การผลิตรวมในอาเซียน โดยที่โรงงานแต่ละแห่งจะมีความชำนาญเฉพาะทางในการผลิตเพื่อป้อนตลาดในภูมิภาค สนับสนุนซึ่งกันและกัน นับเป็นการส่งเสริมดุลการค้า และการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากยิ่งขึ้น
“การดำเนินงานดังกล่าวสำเร็จอย่างดียิ่งโดยที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะและชิ้นส่วน และฟิลิปปินส์ป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์อเนกประสงค์ ฟอร์ดยังมีโรงานผลิตอีกหลายแห่งทั่วอาเซียน ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์ในมาเลเซีย และเวียดนามซึ่งผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ” มร. พาดิลลากล่าว
แม้ว่าแนวโน้มธุรกิจของฟอร์ดในภูมิภาคนี้จะค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีความท้าทายสำคัญที่มีผลต่อ
ความสำเร็จในการดำเนินงานของฟอร์ดทั่วเอเชียแปซิฟิก “รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เราใช้ในอเมริกาเหนือและยุโรปนั้นมีความแตกต่าง และต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนี้” มร. พาดิลลากล่าว
“เราจำเป็นต้องมีวิธีคิดที่แตกต่างไปในการกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจหากเราต้องการความสำเร็จ และนั่นก็หมายความว่า เราจะต้องลงทุนในเชิงกลยุทธ์อย่างเหมาะสม และทำให้มั่นใจว่าเรามีทีมงานที่ดีที่สุด ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งของเราในด้านความรู้ความชำนาญที่สั่งสมกันมาของฟอร์ด ตลอดจนประสบการณ์ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภค”
“ขณะที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชียพัฒนาประเทศและสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เราก็เผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากปัจจัยด้านกฎระเบียบทางภาษีนำเข้า และโครงสร้างภาษีตามกรอบของการตกลงด้านเขตการค้าเสรี การที่จะรักษาผลตอบแทนการลงทุนให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจในระยะยาว เราจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการลงทุน ทั้งในด้านความชัดเจน และแน่นอนของนโยบายรัฐบาล ตลอดจนการดำเนินงานตามนโยบายเหล่านี้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส” มร. พาดิลลากล่าวสรุป
บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ดำเนินธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ในกว่า 200 ตลาดใน 6 ทวีป บริษัทฯ มีพนักงานกว่า 324,000 คนทั่วโลก มีแบรนด์รถยนต์ในเครือได้แก่ แอสตันมาร์ติน ฟอร์ด จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ ลินคอล์น มาสด้า เมอร์คิวรี่ และวอลโว่ รวมทั้งมีบริษัทสินเชื่อรถยนต์ในเครือ คือ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต--จบ--