นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน ก.ค. 65 - วันที่ 20 พ.ค. 67 มีผู้ป่วยรวม 450 ราย เป็นเพศชาย 444 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.7 ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ตรวจพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร 33 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) ซึ่ง สนอ. มีระบบเฝ้าระวังพร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรคฝีดาษวานร โดยได้ประสานเครือข่ายด้านสาธารณสุข เช่น NGO สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา ซาวน่า ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำการสังเกตอาการและมาตรการป้องกันโรคฝีดาษวานรสำหรับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง รวมทั้งเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยเฉพาะในคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย พร้อมเฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่อย่างรวดเร็ว เพื่อลดการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด กอดจูบลูบคลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้นภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้เข้ารับการตรวจที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจหาเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีอาการรุนแรงได้ ขอเตือนประชาชนไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคนหากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร ไม่คลุกคลี หรือสัมผัสตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้า หรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือพบปะสังสรรค์ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร