61% ของซีอีโอไทยคาดว่า GenAI จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท พนักงาน และตลาดภายในสามปีข้างหน้า
PwC ประเทศไทย เผยธุรกิจไทยยังขาดบุคลากรที่มีความพร้อมทางทักษะด้าน AI (AI readiness) ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกของการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ แนะผู้บริหารเร่งอัพสกิลพนักงาน พร้อมสำรวจการใช้งาน AI เชิงลึก-ลงทุนเพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว ขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่ไม่มีแผนปลดพนักงานหลังมีการนำ AI เข้ามาใช้
นาย พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้กันมากขึ้น โดยข้อมูลจาก 'รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 27 ฉบับประเทศไทย: นำธุรกิจมุ่งสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว' ระบุว่า 36% ของซีอีโอไทยมีการนำ GenAI ไปใช้ในบริษัทของตนแล้ว ขณะที่ 24% ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทอันเนื่องมาจากการเข้ามาของ GenAI ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังสอดคล้องกับตัวเลขทั่วโลกที่ 32% และ 31% และเอเชียแปซิฟิกที่ 33% และ 28% ตามลำดับ
"ธุรกิจไทยปรับตัวไปสู่ดิจิทัลรวดเร็วมากขึ้น และเปิดรับในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง GenAI เข้ามาใช้ในธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการทางการเงิน จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินมีการปรับกลยุทธ์เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ซึ่งนอกจากแชทบอตแล้ว ยังมีการนำ AI มาเป็นที่ปรึกษาการลงทุน พิจารณาสินเชื่อ และบริการด้านอื่น ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป" นาย พิสิฐ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่า GenAI จะเข้ามายกระดับประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรแต่รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า มากกว่าครึ่งของซีอีโอไทยที่ถูกสำรวจ (58%) จะต้องมีการยกระดับทักษะให้แก่พนักงานเพื่อรองรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีนี้
"ปัญหาของไทยในเวลานี้ คือ ช่องว่างในการนำ GenAI มาใช้ แต่ละองค์กรขาดบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน AI ซึ่งแม้ว่าผู้บริหารจะตระหนักดีว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถมองข้ามได้ แต่ก็ยังขาดพนักงานที่มีทักษะพร้อมใช้ AI ได้ทันที" นาย พิสิฐ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์กรไทยส่วนใหญ่มีการประยุกต์ใช้ AI กับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ขณะที่การนำ AI เข้าไปช่วยดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังกับส่วนงานต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การจัดการกับงานและกระบวนการที่ซับซ้อนในแผนกการเงิน ภาษี กฎหมาย ไอที และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค นาย พิสิฐ กล่าว
ข้อมูลจากรายงาน Asia Pacific AI Readiness Index ประจำปี 2566 ของ Salesforce ระบุว่า สิงคโปร์ ครองอันดับที่หนึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความพร้อมด้าน AI โดยรวม เป็นผลมาจากนโยบายที่เอื้ออำนวยอย่างมากและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตามมาด้วยญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งอยู่ในอันดับที่สองและสามตามลำดับ ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME) มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสู่ดิจิทัลได้ช้ากว่าและเล็กกว่าบริษัทขนาดใหญ่
นาย พิสิฐ กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนด้าน AI ที่มีมูลค่าสูง ยังทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำได้เพียงนำเทคโนโลยีออโตเมชั่น เช่น ChatGPT เข้ามาใช้งานเบื้องต้นเท่านั้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ผู้บริหารต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนเพื่อการเติบโตระยะยาวและการทำกำไรระยะสั้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญในการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลขององค์กรไทยในเวลานี้
"ก่อนเริ่มลงทุน ผู้นำธุรกิจควรพิจารณาว่า จะนำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือช่วยลดต้นทุนขององค์กรในส่วนไหน และหลังจากที่ได้คำตอบว่า ปัญหาหรือจุดอ่อนของตัวธุรกิจที่ต้องการนำ AI เข้ามาเสริมอยู่ตรงไหนแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาเม็ดเงินลงทุน ซึ่งหากเป็นองค์กรขนาดเล็กก็อาจจ้างบุคคลภายนอกเขียนโปรแกรมหรือบอต หรือใช้โซลูชันซอฟต์แวร์แบบอัตโนมัติจากผู้ให้บริการภายนอก แม้การตัดสินใจลงทุนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะเป็นเรื่องยาก แต่ผู้บริหารควรโฟกัสไปที่การเติบโตในระยะยาว ซึ่งการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ธุรกิจพลาดโอกาสและเติบโตช้ากว่าคู่แข่ง" นาย พิสิฐ กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC พบว่า 61% ของซีอีโอไทยคาดว่า GenAI จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท พนักงาน และตลาดของตนภายในสามปีข้างหน้า
แม้จะมีการนำ GenAI เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น นาย พิสิฐ กล่าวว่า ผู้นำธุรกิจไทยไม่ได้มีแผนลดจำนวนพนักงานแต่อย่างใด สอดคล้องกับผลสำรวจของ PwC ที่ระบุว่า ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (52%) กล่าวว่า GenAI จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนพนักงานเพียงเล็ก น้อยไม่เกิน 5% เท่านั้น หรือแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย