สคร.12 สงขลา เฝ้าระวัง โรคฝีดาษวานร (Mpox) เน้นย้ำ ป้องกันได้

ข่าวทั่วไป Thursday June 6, 2024 17:23 —ThaiPR.net

สคร.12 สงขลา เฝ้าระวัง โรคฝีดาษวานร (Mpox) เน้นย้ำ ป้องกันได้

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) แนะนำ ประชาชนเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร (Mpox) หลังพบการระบาดเพิ่มขึ้น พร้อมเน้นย้ำ โรคฝีดาษวานร ป้องกันได้   

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา  กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล 1 มกราคม 2565 - 2 มิถุนายน 2567) มี ผู้ป่วยยืนยันสะสม 794 ราย เสียชีวิต 11 ราย โดยเป็นคนไทย 714 ราย ต่างชาติ 76 ราย และไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย เพศชายมากกว่าเพศหญิง พบมากที่สุดในช่วงอายุระหว่าง 30-39 ปี สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด สคร 12 สงขลา (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566 - เดือนพฤษภาคม 2567) มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 9 ราย พบในจังหวัดสงขลาทั้งหมด ไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ทั้งหมดเพศชาย และสัญชาติไทย พบมากที่สุดในช่วงอายุระหว่าง 30-39 ปี เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ร้อยละ 66.67 มีประวัติติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ร้อยละ 22.2 และโรคซิฟิลิส ร้อยละ 11.1     

อาการของโรคฝีดาษวานร ที่พบบ่อย ได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน  โดยจะเกิดขึ้นหลังมีความเสี่ยงประมาณ 5-21 วัน หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน ระหว่างรอผลตรวจ แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สำหรับผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแล้ว สามารถแพร่เชื้อได้ และจะพ้นระยะแพร่เชื้อเมื่อตุ่มหรือแผลแห้งและแผลหายดีแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลา    ประมาณ 2-4 สัปดาห์    

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้ป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัย/ ผู้ป่วยฝีดาษวานร/ผู้ที่มีผื่น/ตุ่มสงสัย ให้รีบพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้าน หรือติดต่อศูนย์หาดใหญ่นวรัตน์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ซึ่งให้บริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/คัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและสนับสนุนถุงยางอนามัย หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ