นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนตามระเบียบของคณะกรรมการผังเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยที่ผ่านมา กทม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และหลังจากมีร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นรายกลุ่มเขตทั้งหมด 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 - 24 ธ.ค. 66 และจัดประชุมใหญ่ ณ ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 รวม 7 ครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกภาคส่วนให้มากที่สุด
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) อย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและส่วนที่คัดค้าน สวพ. จึงได้เสนอปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดของประชาชนออกไปจนถึงวันที่ 30 ส.ค. 67 และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมรายเขต 50 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. - ส.ค. 67 ในวันหยุดราชการ (เสาร์ - อาทิตย์) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในแต่ละเขตได้รับทราบข้อมูลการปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมรายเขตของตนเองอย่างละเอียดรอบด้าน ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงรับฟังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และนำไปปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้จัดประชุมรายเขตไปแล้วจำนวน 21 เขต และจะครบทั้ง 50 เขต ในเดือน ส.ค. 67 โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าโครงการได้ที่เว็บไซต์ https://plan4bangkok.com/
ทั้งนี้ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จัดทำขึ้นตามหลักวิชาการทางผังเมือง เพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาความคิดเห็นของประชาชนและขั้นตอนการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จะต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานและคณะกรรมการที่กลั่นกรองหลายชุด มิใช่เป็นการดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของ สวพ. เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาตามหลักวิชาการและเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ โดย กทม. ในฐานะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นผู้วางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมาพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป