The Active ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum "2 ทศวรรษชายแดนใต้ สันติภาพที่ยังไปไม่ถึง" จับมือภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ข้อเสนอเชิงนโยบาย ชวนประชาชนติดตามนโยบายผ่านแพลตฟอร์ม "Policy Watch"
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบาย Policy Forum ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ "2 ทศวรรษชายแดนใต้ สันติภาพที่ยังไปไม่ถึง" เพื่อเปิดพื้นที่สนทนา แลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นในการทบทวนข้อเสนอจากอดีต กลไกการแก้ปัญหาปัจจุบันในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา
ลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 20 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ภาคประชาสังคมเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน สตรี กลุ่มคณะทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมขับเคลื่อนสังคมสู่สันติภาพ อีกทั้งกลุ่มภาคประชาสังคมยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำงานเพื่อสันติภาพของคนในพื้นที่ ประกอบกับการปรับตัวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) มีทิศทางที่ดีขึ้น แสดงให้เห็นถึงปัจจัยเชิงบวกของการดำเนินงานและการสร้างสันติภาพชายแดนใต้
ศ.ดร.ฉันทนา หวันแก้ว นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแก้ไขความขัดแย้ง กล่าวว่า ต้องการการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ที่ทุกคนยอมรับและเข้าถึงได้ อีกทั้งทำให้สังคมรับรู้ร่วมกันว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่สลักสำคัญและสัมพันธ์กับชีวิตของทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ หรือภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ต้องผนวกผู้คนจากหลายฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยอย่างอิสระ โดยการเข้าร่วมเวทีเสวนาเชิงนโยบาย (Policy Forum) ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สร้างการรับรู้ ความเข้าใจและเป็นพื้นที่ในการร่วมหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นารี เจริญผลพิริยะ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดฯ ว่า สังคมควรมองคนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกศาสนาเป็นกลุ่มประชากรในพื้นที่เดียวกัน รัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือและให้ความสำคัญกับทุกคนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค นอกจากนี้ นารียังกล่าวถึงเรื่องการปรึกษาสาธารณะ (public consultation) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP เพื่อนำไปสู่สันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ การปรึกษาในลักษณะดังกล่าวมิใช่เพียงแต่การรับฟังปัญหา แต่เป็นการพูดคุยอย่างมีคุณภาพ ร่วมทำงาน และร่วมแสวงหาทางออกเพื่อนำมาสู่การสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลและประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ จังหวัดชายแดนใต้ ขณะนี้ข้อเสนออยู่ระหว่างการยกร่างรายงาน ซึ่งจะมีทั้งเรื่องด้านการศึกษา เศรษฐกิจ ความยุติธรรม การเคารพอัตลักษณ์ และการกระจายอำนาจ หากดำเนินการเสร็จจะนำมาแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อขอความคิดเห็นกับตัวแทนอดีต กอส. และเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ปัญหาในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้
"เราที่พยายามคิดกันอยู่ว่า จะไม่ใช่เพียงเสนอมาตรการแก้ไขตามอาการ หมายถึงเจอปัญหาอะไร เห็นปัญหาอะไร ในเรื่องไหนก็เสนอ เราจะพยายามโยงให้เห็นปัญหาทั้งหมดนี้ว่ามันเป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ไขอย่างมียุทธศาสตร์อย่างไร" นายจาตุรนต์ กล่าว
ทั้งนี้ The Active ไทยพีบีเอส ได้รวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนในเวทีนี้และสังเคราะห์ออกมาเป็น data visualization สู่ "Policy Watch" แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมบนระบอบประชาธิปไตย สื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://policywatch.thaipbs.or.th