กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เห็นพ้องกันที่จะขยายระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ในตลาด รวมทั้งได้หารือถึงการลดอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว รองรับการแข่งขันภายหลังการเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. จัดประชุมรายไตรมาสร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งการประชุมดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
1. ขยายระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลทรัพย์สินของลูกค้า เช่น ใบแจ้งยอดทรัพย์สิน ของลูกค้า และบันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็น 5 ปี จากเดิม 2 ปี ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับ ข้อกำหนดของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมาตรฐานสากล ซึ่งการขยายระยะเวลา การจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นการเพิ่มภาระของบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากสามารถจัดเก็บใน รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
2. สมาคมได้แจ้งว่า บริษัทหลักทรัพย์มีความสนใจที่จะให้มีสินค้าใหม่ๆ ซื้อขายในตลาดทุน ได้แก่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับทองคำ (Gold Futures) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับหุ้น (Stock Futures) ใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (Transferable Custody Receipt: TCR) และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrants: DW) โดยสมาคมได้ทำการศึกษาและจัดเตรียมระบบงานสำหรับการซื้อขายตราสารดังกล่าว ในขณะที่ ก.ล.ต. เตรียมพร้อมให้ความเห็นชอบ Gold Futures และ Stock Futures ส่วน TCR และ DW อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์ รวมทั้งสำรวจความต้องการและความพร้อมของระบบซื้อขาย ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรองการซื้อขายตราสารแต่ละประเภท
3. ในการปรับตัวของบริษัทหลักทรัพย์เตรียมรับการแข่งขัน วิธีการหนึ่งคือการควบรวมกิจการ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ติดตามและสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ สมาคมได้หารือเกี่ยวกับอุปสรรคทางด้านข้อกฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต. รับที่จะพิจารณาปรับปรุงในส่วน ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ และสำหรับเรื่องภาษีการควบรวม สมาคมจะรวบรวมประเด็นและนำมา หารือในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อจะขอให้ ก.ล.ต. ช่วยประสานงานกับหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า “วันนี้ ก.ล.ต. ได้รับรู้ถึงความตื่นตัวของบริษัทหลักทรัพย์ที่ส่วนใหญ่มุ่งที่จะพัฒนาธุรกิจและการให้บริการของตนให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นของก้าวย่างที่สำคัญของการพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เปิดกว้างที่จะรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อระบบหรือคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งหากเป็นงานในหน้าที่ของ ก.ล.ต. เอง ก็จะเร่งพิจารณาให้ หากอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. ก็จะเร่งประสานงานและติดตามให้ได้รับคำตอบโดยเร็ว
ในการพัฒนาก้าวต่อไป ก.ล.ต. อยากเห็นสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self- Regulatory Organization: SRO) ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกของตน ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์มีความคล่องตัวขึ้น กฎเกณฑ์ต่างๆ มีความเหมาะสมกับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการหารือกันต่อไป”
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ ในการประชุมร่วมกันของสมาชิก สมาคมได้เห็นความก้าวหน้าในหลายๆ เรื่อง ที่บ่งบอกถึงความต้องการของสมาชิกที่อยากเห็นตลาดทุนไทยมีพัฒนาการในด้านต่างๆ รวมถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของสมาชิกเองที่ต้องการทำธุรกิจ
เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น โดยมี ก.ล.ต. เป็นผู้กำหนดนโยบายที่เปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์มีการคิดค้นและปรับตัว รวมทั้งออกกฎเกณฑ์ในลักษณะที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ สำหรับการเป็น องค์กรกำกับดูแลตนเองของสมาคมนั้น เป็นเรื่องที่สมาชิกให้การตอบรับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้างให้สถาบันการศึกษาทำการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบและกรอบการทำงาน ”