กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้มีการหารือกับ H.E. Latha Reddy เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เกี่ยวกับความร่วมมือต่างๆ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจะมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างประเทศไทยและอินเดียในเรื่องของการสร้างเครือข่ายการเตือนภัยธรรมชาติในแถบทะเลอันดามัน
การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา การวัดระดับน้ำทะเล โดยจะมีการส่งบุคลากรไปฝึกงานและมีการประสานข้อมูลกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการสร้างเครือข่ายระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ “ประเทศอินเดียมีนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการเตือนภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพทำให้สามารถรับทราบข้อมูลของภัยธรรมชาติ และพิบัติภัยต่างๆ ล่วงหน้าได้ทันเวลา แต่ใช้งบประมาณไม่มาก ซึ่งปัจจุบันอินเดียก็ได้ให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในมหาสุมทรอินเดีย คือ หมู่เกาะมัลดีฟอยู่ด้วย” ดร.มั่น กล่าว ด้านดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ศึกษาระบบเตือนภัยของทางประเทศอินเดียอยู่ จากเดิมที่มีความสนใจจะซื้อทุ่นจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อไทยจะมีการตกลงทำความร่วมมือกับอินเดียเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายการเตือนภัยระหว่างกัน ก็จำเป็นจะต้องศึกษาระบบต่างๆ ที่ทางประเทศอินเดียใช้อยู่ เพื่อที่จะดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ที่สามารถใช้เชื่อมโยงระบบเดียวกันได้ “ทางอินเดียได้มีการผลิตทุ่นเพื่อตรวจวัดคลื่นสึนามิขึ้นใช้เอง ซึ่งเราจะต้องมีการเดินทางไปศึกษารายละเอียดและพิจารณาดูความเหมาะสม ก่อนที่จะกลับมาดำเนินการจัดซื้อด้วยงบประมาณเดิมจำนวน 165 ล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2551 นี้ ก็จะสามารถดำเนินการติดตั้งทุ่นลอยภายหลังหมดฤดูมรสุมในทะเลอันดามันช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ซึ่งจำนวนทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิที่จะสามารถติดตั้งได้ในอาณาเขตน่านน้ำของประเทศไทยนั้นจะมีเพียง 2 จุดเท่านั้น” ดร.สมิทธ กล่าว ขณะเดียวกัน H.E. Latha Reddy เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “อินเดีย มีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับประเทศไทยในการสร้างเครือข่ายเตือนภัยธรรมชาติในทะเลอันดามัน รวมทั้งได้มีโอกาสนำเทคโนโลยีของอินเดียมาเผยแพร่ เพื่อช่วยให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนในภูมิภาคนี้” อย่างไรก็ตาม นอกจากความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายเตือนภัยธรรมชาติแล้ว ประเทศไทยและอินเดียยังจะมีความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ อีก เช่น การให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย