วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2567 คณะแพทย์ฯ จุฬา จัดงานแถลงข่าวและพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านทางแพลตฟอร์ม MedUMORE ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ 10 องค์กรการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย ณ ห้องประชุม สดศรี วงศ์ถ้วยทอง อาคาร ภปร ชั้น 18 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ
- แพทยสภา
- สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย
- สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย
- สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
- สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
- ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
- สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
- สภาเทคนิคการแพทย์
- Faculty of Medicine, University of Health Sciences, Lao People's Democratic Republic.
- สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย
1-2-10 Med Ed Exponential
คณะแพทย์ฯ ร่วมกับมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ พัฒนา Online Learning Platform ภายใต้ชื่อ "MedUMORE" โดยในการจัดงานครั้งนี้ นำเสนอภายใต้แนวคิด 1-2-10 (1 to 10) Med Ed Exponential ซึ่ง 1 หมายถึงวิสัยทัศน์ของ ในการเป็นผู้นำด้านคลังความรู้ออนไลน์ด้านสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 หมายถึงการดำเนินงานมาเป็นปีที่ 2 และมีการเข้าชมกว่า 2 ล้านครั้ง สามารถรองรับการใช้งานทุกรูปแบบ ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่และการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงแค่ในตำรา โดยรวบรวมเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนการประชุมวิชาการ และ 10 หมายถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการศึกษาทางด้านการแพทย์ หรือแบบ Exponential โดยการมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมให้ความรู้ทางการแพทย์และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของบุคลากรจาก 10 องค์กรแพทย์ ส่งเสริมให้ MedUMORE เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ สู่การเผยแพร่องค์ความรู้ทุกมิติบน Digital Platform ที่มีมาตรฐานเชื่อมต่อผู้ใช้งาน ทั่วโลก ให้สามารถเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว ต่อเนื่อง และปลอดภัย
รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะผลักดันให้แพลตฟอร์ม MedUMORE เป็นโมเดลการเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาแพทย์แบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การพัฒนาบัณฑิตแพทย์ยุคใหม่ได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การผสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรทางการแพทย์ชั้นนำในระดับประเทศและต่างประเทศ มีส่วนช่วยให้แพลตฟอร์มการเรียนรู้อย่าง MedUMORE แข็งแกร่งและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและโลกอย่างมาก
ศ. พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดี ฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า นับจากเริ่มเปิดตัวเมื่อเดือน มิถุนายน ปี พ.ศ. 2565 จวบจนถึงปัจจุบัน "MedUMORE" มีผู้เข้าชมครบ มากกว่า 2 ล้านครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่าแพลตฟอร์ม MedUMORE นี้ สามารถตอบโจทย์เรื่องความรู้ทางการแพทย์ให้แก่ผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นนิสิตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ แบบไร้ขีดจำกัด สะดวก ดูได้ทุกพื้นที่และเข้าใจง่าย ซึ่งองค์ความรู้ที่ให้บริการมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ E-Book คลิปวิดีโอ และเทคโนโลยีเสมือนจริง AR/VR ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการนำ เทคโนโลยี AI GPT Integration และ Multi Visual Learning เข้ามาเป็นตัวช่วยการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนด้วย
ซึ่งทิศทางการดำเนินงานในอนาคตอันใกล้ "MedUMORE" จะขยายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรไปในองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลที่หลากหลายเหมาะกับนิสิต นักศึกษาแพทย์ ยุคใหม่ที่ต้องการข้อมูล ความรู้ที่รวดเร็วทันสมัย จนในที่สุด จะสามารถพัฒนาให้ "MedUMORE" เป็นศูนย์กลางความรู้ออนไลน์ด้านการแพทย์ ที่ครอบคลุมที่สุด พร้อมทั้งจัดระบบองค์ความรู้ ด้านการแพทย์ที่มีอยู่ในหลาย Platform ให้อยู่ในที่เดียวกันเพื่อเชื่อมต่อ ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมวิชาการในรูปแบบใหม่ โดยที่จะบูรณาการองค์ความรู้ทางการแพทย์สู่ความเป็นเลิศ ลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงระบบการศึกษา และสร้างความเท่าเทียมด้านสาธารณสุข รวมทั้งเป็นผู้นำและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับนานาชาติ
ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า "MedUMORE" ได้รวบรวมคอนเทนต์ด้านการแพทย์ไว้มากกว่า 2,000 คอนเทนต์และคอร์สเรียนออนไลน์เนื้อหาด้านการแพทย์มากกว่า 900 คอร์สเรียน และยังมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย ให้ความรู้เรื่องโรคภัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนในสังคมผ่านคลิปวิดีโอสั้นในช่วง "หมอขอเล่า" โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่าง ๆ ถ่ายทอดความรู้อย่างถูกต้อง โดยมุ่งเป้าหมายให้เกิดพฤติกรรมการแชร์ข้อมูลสุขภาพบนมาตรฐานความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องในสื่อโซเชียล ซึ่งหลายครั้งสังคมส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเข้ามาสืบค้นใน MedUMORE ก็จะได้รับรู้ข้อมูลถูกต้องที่มาจาก แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง พร้อมกล่าวถึงความพิเศษของแอปพลิเคชัน "MedUMORE" จะมีระบบจดจำประวัติการเข้าเรียน สามารถแนะนำเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียนตามความสนใจในแต่ละบุคคล เหมาะสำหรับ นักเรียน นิสิตและนักศึกษาแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และคอร์สชมฟรีสำหรับประชาชน แบบไม่ต้อง Login เมื่อเรียนแล้วยังสามารถทำแบบทดสอบวัดความเข้าใจ และได้รับ Certificate เมื่อเรียนจบอีกด้วย
Future Education, Future Learners, and Future Healthcare
นอกจากนี้ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง "Future Education, Future Learners, and Future Healthcare อนาคตการศึกษาเพื่อการแพทย์ และสาธารณสุขยุคใหม่ของไทย" โดย ศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการศึกษาและความสำคัญของการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ที่มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะบทบาทของมหาวิทยาลัยนั้น นอกจากจะเป็นแหล่งรวมความรู้แล้วยังต้องเป็นแหล่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อตอบโจทย์ประชาชนชาวไทย ขยายขอบเขตกว้างถึง Global citizen หรือประชากรโลกนั่นเอง "วันนี้ผมภูมิใจกับคณะแพทยศาสตร์ที่มีแพลตฟอร์ม MedUMORE และภูมิใจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ MedUMORE เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีการรวบรวมเนื้อหาที่ครอบคลุมในหลายด้านและองค์ความรู้จากความร่วมมือของหลายองค์กรชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้าน สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพเงินและการลงทุน ทักษะด้านบริหารและการจัดการ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่จะช่วยให้ท่านได้เติบโตขึ้นได้ ดังนั้น ปัจจุบันเราไม่ได้ก้าวตามโลกอีกต่อไป แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะก้าวล้ำโลก เราเป็นผู้ที่ชี้นำในระดับโลก ความเป็น Pioneer หมายความว่าเรามีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำ (Leading) กล่าวโดยสรุปคือเรานำองค์ความรู้มาชี้นำสังคม ชี้นำประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนี่คือบทบาทที่ยิ่งใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาการทำงานในรูปแบบแพลตฟอร์ม (Platform) เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลงได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการที่กรุงเทพมหานครได้นำแพลตฟอร์มมาใช้ในการจัดการเรื่องร้องเรียน "คนมักจะร้องเรียนนอกเวลาราชการ ซึ่งมีมากถึง 60% ดังนั้นเป็นการดีที่คณะแพทย์ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบสาธารณสุขและการให้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยต่อประชาชนในเมืองหลวงและการมีส่วนช่วยสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขและการแพทย์ของกรุงเทพฯ
พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงบทบาทของแพทยสภาในการกำกับมาตรฐานการศึกษาแพทย์ให้ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแพทยสภา มีส่วนช่วยในการสร้างมาตรฐานการผลิตบัณฑิตแพทย์ ซึ่งเมีแพทย์ที่จบการศึกษาประมาณปีละ 3,000 คน จาก 25 มหาวิทยาลัย ดูแลประชาชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันแพทย์เองจะต้องเรียนรู้ทักษะด้านการรักษาเพิ่มเติมจาก 14 ราชวิทยาลัย 95 สาขาความเชี่ยวชาญ ซึ่งการฝึกฝนและการเรียนรู้ทางการแพทย์นั้นจะหยุดนิ่งไม่ได้ และเสริมว่า "วันนี้ MedUMORE ตอบโจทย์หลายอย่างมาก ๆ ให้คุณหมอหลายท่านที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่ไม่มีเวลาเดินทางมาเข้าประชุมวิชาการหรืออัพเดทความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ การเรียนรู้ผ่าน MedUMORE แพทย์สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทยสภาสนับสนุนและพร้อมขับเคลื่อน ปัจจุบันแพทยสภาได้นำองค์ความรู้หลายชุดใส่เข้าไปและให้แพทย์เข้ามาทดลองเรียนรู้ ซึ่งเกิดประโยชน์อย่างมาก ตอบโจทย์การรักษาเป็นอย่างมาก แพทย์สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากที่ใดก็ได้และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ได้ทันทีให้กับคนไข้ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เท่าเทียมกับการรักษาในเมืองหลวง"
รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปและเน้นย้ำแนวทางการดำเนินการของ MedUMORE ในฐานะผู้ขับเคลื่อนองค์ความรู้ทางการแพทย์ยุคใหม่ เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มของคนไทยที่คนต่างชาติเข้ามาเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางแหล่งสืบค้นข้อมูลทาง การแพทย์ที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สอดรับกับ Future Healthcare และอนาคตการศึกษาเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลกดีขึ้น