- สกสว. เปิดพื้นที่ดึง 9 PMU ร่วมนำเสนอผลการวิจัย - โชว์ความก้าวหน้าแผนงานวัคซีน การแพทย์ ขั้นสูง อาหารและผลไม้มูลค่าสูง การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจ IDEs
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และคณะผู้บริหารจาก 9 หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เข้าร่วมหารือทบทวนแผนงานสำคัญ ทั้งในด้านโอกาสความสำเร็จที่กำหนดไว้ตามเป้าหมายของแผนงาน รวมถึงความเป็นไปได้ และความคุ้มค่า ตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของนโยบาย และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศใน 7 แผนงาน ได้แก่ แผนงาน F1 วัคซีน แผนงาน F2 ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง รวมถึงชีววัตถุ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ แผนงาน F3 Functional Ingredient, Functional Food, Novel Food แผนงาน F4 อาหารและผลไม้ไทยคุณค่าสูง แผนงาน F5 การท่องเที่ยวโดยแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แผนงาน F6 อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง และ แผนงาน F7 ธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs)
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การหารือที่จัดขึ้นนี้ เพื่อทบทวนแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นนโยบาย (Flagship Program) ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ใน 7 แผนงาน ได้แก่ แผนงาน F1 วัคซีน แผนงาน F2 ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง รวมถึงชีววัตถุ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ แผนงาน F3 Functional Ingredient, Functional Food, Novไel Food แผนงาน F4 อาหารและผลไม้ไทยคุณค่าสูง แผนงาน F5 การท่องเที่ยวโดยแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แผนงาน F6 อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง และ แผนงาน F7 ธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) จากทั้งหมด 15 แผนงาน โดย สกสว. ได้เชิญคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และคณะผู้บริหารของหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) ร่วมประชุมทบทวนแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบายต่อโอกาสความสำเร็จต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ตามเป้าหมายของแผนงาน รวมถึงความเป็นไปได้ (Feasibility) และความคุ้มค่า ที่ทำให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชน หรือกลุ่มเป้าหมายจากการแก้ปัญหารากเหง้าและยกระดับการพัฒนา และการนำส่งผลสำเร็จตามเป้าหมายให้ครบถ้วนภายใน 3-5 ปี อีกทั้งมีความสำคัญเร่งด่วน ตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของนโยบาย หรือแผนพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลงาน และข้อเสนอแนะจากผลการดำเนินงาน พร้อมเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนนักวิชาการในกลุ่มแผนงาน F1 และ F2
ผศ.ดร.ภก.วิสิฐ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้จัดการสำนักพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีน (รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ) กล่าวว่า แผนงาน F1 วัคซีน เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประเทศ เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน คือ ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนสำหรับโรคสำคัญได้เอง และเป็นแหล่งผลิตวัคซีนที่สำคัญของอาเซียน โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันมีผลการดำเนินงาน เช่น วัคซีนโควิด-19 โดยองค์การเภสัชกรรมได้รับการขึ้นทะเบียนแบบ conditional approval จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมีวัคซีนโควิด-19 จำนวน 3 ชนิดที่เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ อีกทั้งสามารถขยายกำลังการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ให้เพียงพอกับความต้องการ และมีการถ่ายทอดการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธ์อีกด้วย
ด้าน ศ. ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ สกสว. กล่าวถึง แผนงาน F2 การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products: ATMPs) รวมถึงชีววัตถุ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมระดับสูงและมูลค่าสูง ให้เป็นแหล่งผลิตสำคัญของอาเซียน ที่ดำเนินการโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. ว่า แผนงานดังกล่าวมีเป้าหมาย คือประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัคซีน ยา สารสกัดสมุนไพร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) รวมถึงชีววัตถุ ที่สำคัญของอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการนำเข้าและสามารถส่งออกได้ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถผลิตและขึ้นทะเบียนยาชีววัตถุ วิจัย พัฒนาผลิตตั้งแต่ TRL 1-9 (API จนถึง Biosimilar) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นชนิดแรกของประเทศไทย และวัคซีน HXP-GPOVac ที่ใด้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. มีการผลิตสารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ (Growth Factor) ทั้งหมด 10 ชนิด
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะต่างๆ ถือเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนแผนด้าน ววน. และการลงทุนของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาในด้านอื่นๆ ซึ่ง สกสว.จะนำกลับไปพิจารณาและนำเสนอแก่อนุกรรมการแผนด้าน ววน. ก่อนนำเสนอแก่ กสว. เพื่อเห็นชอบในหลักการและกรอบงบประมาณดำเนินการต่อไป