"อยากกินหมูกระทะด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต" คือความฝันของคนพิการทางสายตา ที่เรื่องง่ายๆ อย่างการกินหมูกระทะกลับเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าถึง นี่คือโจทย์ที่ทัชใจนายกานต์รวีย์ แดงเพ็ง นางสาวปณาลี รติพัชรพงศ์ และนางสาวมิ่งขวัญ หล่อตระกูล เด็กมัธยมจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ร่วมกันประดิษฐ์ "เครื่องวัดอุณหภูมิเนื้อสัตว์สำหรับคนพิการทางสายตา" เพื่อให้คนตาบอดได้ทำตามฝันที่ตั้งไว้
นายกานต์รวีย์ เล่าว่างานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการวมว. ที่โรงเรียนทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยโจทย์ที่สนใจเป็นเรื่องของคนพิการ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการทางสายตา ซึ่งจากข้อมูลประเทศไทยมีคนพิการทางสายตาสูงถึง 184,197 คน หรือคิดเป็น 7.99% จากคนพิการในประเทศไทยทั้งหมด 2,304,068 คน และจากการที่พวกเราได้พูดคุยและเก็บข้อมูลจากคนพิการทางสายตาเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้ง 24 คน พบว่านอกจากปัญหาเรื่องการเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย การเลือกซื้อสิ่งของด้วยตนเองในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ แล้ว การทำอาหารกินเองหรือแม้แต่การไปกินในร้านปิ้งย่างที่เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ก็เป็นสิ่งที่คนตาบอดอย่างเขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
"เขาไม่สามารถรู้ได้ว่าอาหารที่ทำหรือเนื้อที่ปิ้งอยู่สุกหรือไม่ ทำให้หลายครั้งต้องกินของไม่สุกหรือไหม้เกินไป หรือจำเป็นต้องมีคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา เราจึงต้องการประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อวัดอุณหภูมิอาหารเพื่อคนพิการทางสายตาให้สามารถประกอบอาหารและรับประทานอาหารประเภทต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ พกพาง่าย ใช้งานสะดวก ทำความสะอาดไม่ยาก ที่สำคัญต้องสามารถแจ้งเตือนให้รู้เมื่ออาหารชิ้นนั้นสุก ซึ่งจะช่วยให้เขาลดการพึ่งพาคนอื่นและขอความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ตามหลัก Independent Living หรือการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ซึ่งจะช่วยให้คนพิการทางสายตาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย"
เมื่อโจทย์และข้อมูลที่ต้องการชัดเจนการทำงานจริงก็เริ่มขึ้น ทีมงานจึงนำแนวคิดไปปรึกษากับอาจารย์จุฑารัตน์ สุ่นประเสริฐ ครูที่ปรึกษาในโรงเรียน และ ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี ที่ปรึกษาจากศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจธ.
"จากการหาข้อมูลเชิงลึกเราพบว่าอุปกรณ์สำหรับช่วยคนพิการทางสายตาในบ้านเรามีอยู่พอสมควรแต่เป็นการช่วยเหลือในการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน อย่างไม้เท้า หรือแอปช่วยเดินทางต่าง ๆ แต่อุปกรณ์ในบ้านสำหรับคนพิการทางสายตาแทบไม่มีเลย จึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งกับพวกเขาที่ต้องอยู่กับบ้านในช่วงโควิด ทำให้คนพิการทางสายตาส่วนใหญ่ต้องกินอาหารสำเร็จรูป อาหารเวฟ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นหลัก ไม่สามารถทำอาหารสดใหม่กินเองได้" นางสาวปณาลี กล่าว
จากโจทย์ว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้คนตาบอดรู้ว่าอาหารนั้นสุกแล้ว นำไปสู่ไอเดีย "การติดเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิอาหารแบบเข็มไว้กับที่คีบอาหาร" โดยจะมีการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมให้สามารถแจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิของเนื้อชิ้นนั้นสูงถึงระดับที่ตั้งไว้
"บริเวณปลายที่คีบจะมีแท่งโลหะที่เป็นตัววัดอุณหูมิ การใช้งานเพียงกดปลายที่คีบลงบนเนื้อชิ้น อุณหภูมิในเนื้อสัตว์ที่เซนเซอร์วัดได้ ก็จะถูกส่งเข้าโปรแกรมเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ใช้งานได้รู้หากเนื้อชิ้นนั้นสุก เราทำระบบแจ้งเตือนไว้ให้เลือกทั้งเตือนแบบเสียง และเตือนแบบสั่น เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานทั้งภายในบ้านและนอกสถานที่ โดยได้นำตัวต้นแบบไปทดลองการทำอาหารประเภทย่างและผัด โดยใช้วัตถุดิบเป็นเนื้อไก่ เนื้อหมู ที่มีขนาดความหนา 2, 6 และ 10 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในเนื้อสัตว์ 1 ชิ้น ทำการวัดอุณหภูมิ 2 จุด และทดลองซ้ำขนาดละ 3 ชิ้น โดยเก็บค่าทุก 15 วินาที ผลจากการทดลอง ทำให้เราได้นำไปใช้เขียนโค้ดให้อุปกรณ์แจ้งเตือน เมื่ออุณหภูมิของเนื้อสัตว์อยู่ที่ 85-90 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เราทดลองแล้วว่าทำให้เนื้อสัตว์ที่นำมาย่างหรือผัดสุกทั่วทั้งชิ้น" นางสาวมิ่งขวัญ กล่าว
สำหรับการนำไปทดลองใช้จริงนั้น นางสาวปณาลี กล่าวว่า จากการนำไปให้คนพิการทางสายตาได้ทดลองใช้ พบว่าได้รับความพึงพอใจในระดับมาก รวมถึงได้รับข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์ในอนาคตว่า ควรปรับด้ามจับให้เป็นสีเข้มเพื่อให้คนสายตาเลือนรางสามารถสังเกตได้ ปรับขนาดให้เล็กลงและน้ำหนักให้เบาชึ้น และสามารถบอกอุณหภูมิเป็นเสียงพูดได้ ซึ่งต้นทุนในการทำอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่เกิน 600 บาท"
แต่ไม่ว่า "เครื่องวัดอุณหภูมิเนื้อสัตว์สำหรับคนพิการทางสายตา" ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ โรงเรียน วมว.ทั่วประเทศ รวมถึงรางวัลบทความวิชาการดีเด่น ด้านการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อและส่งเสริมอาชีพให้คนพิการ จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้รับการการสนับสนุนหรือต่อยอดไปสู่ผลิตจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่น้องๆ ทั้ง 3 คนได้รับจากการทำงานครั้งนี้ คือการเปิดประสบการณ์และสร้างทักษะในหลายๆ ด้าน ทั้งการทำงานเป็นทีม การทำงานจากโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
"สิ่งสำคัญที่สุดคืองานนี้ช่วยปรับทัศนคติของพวกเราต่อคนพิการทางสายตาให้เปลี่ยนไป เราพบว่าพวกเขามีปัญหาในการใช้ชีวิตมากกว่าแค่การเดินทางเหมือนที่หลายคนคิด เรื่องอาหารก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน โดยสิ่งที่เขาอยากได้มากที่สุดคือ เครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด" นางสาวมิ่งขวัญ พูดถึงสิ่งสำคัญที่ตนเองและเพื่อนๆ ได้ได้จากการทำงานครั้งนี้
ผศ.ดร.ธิติมา ในฐานะที่อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อาจจะยังไม่ได้รับการผลิตจริงออกสู่ท้องตลาดในตอนนี้ แต่ข้อค้นพบและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น สามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนตาบอดในประเทศไทยในอนาคต
"ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือคนพิการในประเทศไทยมีอยู่น้อยมาก จำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง คนพิการทางสายตาหลายคนอาจเข้าไม่ถึง แต่การเริ่มต้นคิดค้นอุปกรณ์สนับสนุนการใช้ชีวิตของคนพิการด้วยคนไทยเอง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มี ผลิตขึ้นในประเทศ จะเป็นการช่วยเพิ่มตัวช่วยในการใช้ชีวิตให้คนพิการ ทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ของไทยไปพร้อมกัน"