เกษตรเขต 2 ภาคตะวันตก ร่วมกิจกรรมจิตอาสากำจัดหนอนกระทู้ในแปลงมันสำปะหลัง ณ บ้านหนองปล้อง ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

ข่าวทั่วไป Monday June 17, 2024 16:37 —ThaiPR.net

เกษตรเขต 2 ภาคตะวันตก ร่วมกิจกรรมจิตอาสากำจัดหนอนกระทู้ในแปลงมันสำปะหลัง ณ บ้านหนองปล้อง ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร นายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี นางทชาอร ลิมังกูร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยผู้อำนวยกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากร และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมจิตอาสากำจัดหนอนกระทู้ในแปลงมันสำปะหลัง ณ บ้านหนองปล้อง ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

ซึ่งหนอนกระทู้ในมันสำปะหลังตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ในตอนหัวค่ำ (ช่วงเวลา 18.00-20.00 น.) ใต้ใบพืชเป็นกลุ่มเล็กๆ มีจำนวนไข่ 20 - 80 ฟองขึ้นไป แต่โดยเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง 20 กว่าฟอง กลุ่มไข่ปกคลุมด้วยขนสีขาว ระยะไข่ประมาณ 2- 3 วัน หากอุณหภูมิความชื้นสูงไข่จะฟักตัวเร็วขึ้น ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้มากกว่า 200 ฟอง ไข่เมื่อฟักเป็นหนอนระยะแรกจะอยู่รวมเป็นกลุ่ม แทะกินผิวใบด้านล่าง และจะอยู่รวมกันจนกระทั่งระยะหนอนวัย 3 เป็นระยะที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสีสัน เช่น สีเขียวอ่อน เทา เทาปนดำ น้ำตาลอ่อน น้ำตาลดำ เป็นต้น หากสังเกตด้านข้างจะมีแถบสีขาวข้างละแถบพาดยาวจากส่วนอกถึงปลายสุดของลำตัว หนอนวัย 3 เป็นระยะที่แยกกันอยู่เพราะตัวโตขึ้น ระยะหนอนมีการเจริญเติบโต 6 ระยะ ใช้เวลาตลอดการเจริญเติบโต 14 -17 วัน และหนอนระยะสุดท้ายมีขนาด 2.5 ซม. ก็จะเริ่มหาทางเข้าใต้ผิวดิน หรือบริเวณโคนต้นพืชเพื่อเข้าดักแด้ ๆ มีสีน้ำตาลเข้มยาวประมาณ 1.5 ซม. ระยะดักแด้ 5-7 วัน ก็จะเป็นตัวเต็มวัย อาศัยอยู่ตามใต้ใบพืช ทั้งนี้ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลางสีน้ำตาลแก่ปนเทา กางปีกกว้าง 2- 2.5 ซม. ลักษณะเด่นคือ มีจุดสีน้ำตาลอ่อน 2 จุดตรงกลางปีกคู่หน้า ตัวเต็มวัยมีอายุเฉลี่ย 4- 10 วัน วงจรชีวิตหนอนกระทู้หอมเฉลี่ย 30-35 วัน หรือโดยเฉลี่ยมี 10-12 ชั่วอายุขัยต่อปี ซึ่งคำแนะนำในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ในมันสำปะหลัง ได้แก่

1.เมื่อพบตัวหนอนหรือกลุ่มไข่ในแปลงให้เก็บ และนำมาทำลาย พร้อมกำจัดวัชพืชที่อยู่ในแปลง และบริเวณรอบแปลง

2.ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร เช่น คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร เดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร หากการระบาดของหนอนลดลงให้ควบคุมด้วยชีวภัณฑ์ โดยฉีดพ่นเชื้อแบคที่เรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bt) อัตรา 80 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร หลังจากฉีดพ่นสารเคมี แล้ว 15 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ